การเตรียมองค์กรให้พร้อมสำหรับอนาคต

การแพร่ระบาดของ Covid-19 และความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง และอื่น ๆ ที่ดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้องค์กรระดับโลกจำนวนไม่น้อย เลือกใช้ประโยชน์จากการคาดการณ์อนาคตเชิงกลยุทธ์ (Strategic Foresight) เพื่อประเมินสภาพแวดล้อม วางแผนพัฒนาองค์กร และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่ง เพราะหากองค์กรมองไม่เห็นโอกาส ก็อาจตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลง ล้าหลัง และล้มเหลวในวิกฤติปัจจุบันได้อย่างง่ายดาย โดยไม่ทันตั้งตัว

การเตรียมความพร้อมในอนาคตขององค์กร หรือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยความสามารถในการปรับตัว อาจหมายถึงการมีความยืดหยุ่น สามารถเลือกใช้และปรับเปลี่ยนวิธีรับมือกับวิกฤติ และฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว (Resilience) ซึ่งจะส่งผลให้องค์กรนำหน้าคู่แข่งในระยะยาว เพราะองค์กรเตรียมความพร้อมสำหรับสิ่งที่ไม่แน่นอนไว้แล้วในปัจจุบัน ด้วยการสำรวจทางเลือกในอนาคต การกำหนดนโยบาย การกำหนดกลยุทธ์ และความสามารถในการพลิกความท้าทายที่เกิดขึ้นให้เป็นโอกาสขององค์กรที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง และมีความแข็งแกร่ง (Robustness) มากขึ้นกว่าเดิม

René (2018) ได้กล่าวถึง ลักษณะองค์กรที่มีความพร้อมด้านการคาดการณ์อนาคตว่า เป็นองค์กรที่สามารถนำกระบวนการคาดการณ์อนาคตเชิงกลยุทธ์ (Strategic Foresight) มาใช้เพื่อรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันและเห็นโอกาสที่แตกต่างจากผู้อื่น ผ่านกระบวนการ 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย

Perceiving: การที่องค์กรสามารถระบุเงื่อนไข ปัจจัย หรือประเด็น (Drivers) ที่ส่งอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงที่เป็นแนวโน้มสำคัญในอนาคตได้ ดังนั้น Perceiving จึงเป็นกระบวนการเฝ้าระวังความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมต่าง ๆ หรือที่เรียกว่าการตรวจจับสัญญาณอ่อน (Weak Signals) ที่เกิดจากการตระหนักรู้ขององค์กร

Prospecting: การตรวจสอบ แปลความหมายของสภาพแวดล้อม และขบคิดเพื่อวางกลยุทธ์ (Sensemaking and Strategizing) ด้วยวิธีคิดวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ และกำหนดภาพอนาคตที่มีความเป็นไปได้ (Scenario Analysis) อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นการสำรวจประเด็นเล็กน้อยที่ดูเหมือนจะไม่มีความสำคัญ แต่สามารถกลายเป็นจุดพลิกผัน (Tipping Point) ที่อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงขององค์กรอย่างมีนัยยะสำคัญได้

Probing: การทดลองเชิงปฏิบัติการ ที่องค์กรสามารถกำหนดเงื่อนไขสภาพแวดล้อมอย่างเฉพาะเจาะจงเพื่อทดสอบข้อค้นพบที่สืบเนื่องมาจากกระบวนการ Perceiving และ Prospecting อย่างเป็นลำดับขั้นตอน ในกระบวนการนี้ หมายรวมถึงการพัฒนาตัวแบบ (Prototyping) การวิจัยและพัฒนา (R&D projects) การทดสอบผลิตภัณฑ์กับกลุ่มลูกค้า และการทดสอบ หรือทดลองใช้ระบบบางอย่างภายในองค์กร ซึ่งเป็นขั้นตอนที่จะช่วยให้กลยุทธ์ขององค์กรมีแนวทางปฏิบัติ (Course of action) มีความชอบธรรมในการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวในอนาคต

รูปที่ 1: กระบวนการ (Process) ขององค์กรที่มีความพร้อมด้านการคาดการณ์อนาคต
ที่มา: ดัดแปลงจาก René Rohrbeck (2018)

  1. ข้อมูล Information:         
    การสร้างข้อได้เปรียบให้กับองค์กรด้วย “ข้อมูลเชิงลึก” มาจากความสามารถในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย รอบด้าน ประกอบกับการที่องค์กรสามารถเข้าถึงข้อมูลที่องค์กรอื่นไม่สามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้ ยังหมายถึง การเลือกใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ ทำความเข้าใจ องคาพยพที่เกี่ยวข้องกับองค์กร เพื่อที่จะคาดการณ์อนาคตเชิงกลยุทธ์ในมิติต่าง ๆ เช่น ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นต้น
  2. เครือข่าย Networks:
    ระบบเครือข่ายภายในองค์กร กล่าวคือ ช่องทางการสื่อสารภายใน (Internal Communication) ที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการมีช่องทางส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินสภาพแวดล้อมที่เป็นระบบชัดเจน การถ่ายทอดข้อมูลระหว่างคนในองค์กรที่เข้มข้น ทั้งในช่องทางที่เป็นทางการ และในลักษณะที่ไม่เป็นทางการ นอกจากนั้น องค์กรยังควรมีเครือข่ายการทำงานที่กว้างขวางกับองค์กรภายนอก และกิจกรรมด้านการคาดการณ์อนาคตร่วมกันชัดเจน และต่อเนื่องในระยะยาว
  3. บุคลากร People:
    การที่คนในองค์กรมีลักษณะของผู้มองการณ์ไกล (Characteristics of Foresighters) กล่าวคือ คนในองค์กรไม่เพียงมีความรู้ที่ลึกในงานที่ตนเองรับผิดชอบ แต่ยัง “รู้กว้าง” ในประเด็นหลากหลาย สามารถเข้าใจเรื่องที่อาจส่งผลกระทบต่อองค์กรในประเด็นที่นอกเหนือจากความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของตนเองได้ เชื่อมโยงความรู้กับโลกภายนอกได้ ส่งเสริมให้องค์กรมีลักษณะของการมองการณ์ไกล ซึ่งสัมพันธ์กับการประเมินความเสี่ยง หรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้
  4.  วิธีการทำงาน Method:
    ลักษณะองค์กรที่มีระบบวิธีการในการบริหารงานองค์กรหลากหลาย กล่าวคือ องค์กรมีวิธีบริหารจัดการความเสี่ยงหรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตามสถานการณ์ การมีระบบวิธีการทำงาน หรือสามารถพัฒนาวิธีการแก้ไขปัญหาที่สามารถตอบสนองต่อโจทย์ความท้าทายตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างทันท่วงที ประกอบกับการมีระบบการทำงานที่เอื้อต่อการทำงานที่ยืดหยุ่น ก้าวข้ามกฎเกณฑ์ ข้อจำกัดของส่วนงานต่าง ๆ เพื่อผลลัพธ์ในการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
  5. วัฒนธรรมองค์กร Culture:
    องค์ประกอบด้านนี้หมายถึง ลักษณะองค์กรที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ปิดกั้นข้อมูล เป็นองค์กรที่เปิดรับความเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการสร้างเครือข่าย แสวงหาความรู้ใหม่ มองหา และประเมินสภาพแวดล้อมอย่างเป็นปกตินิสัยอยู่เสมอ ถึงที่สุดแล้วจะส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานในองค์กรทุกคนตระหนักถึงหน้าที่ในการตรวจจับสัญญาณอ่อน (Weak Signal) เพราะลักษณะของวัฒนธรรมองค์กรเชิงรุก ที่กระตุ้นให้ผู้ปฏิบัติงานพร้อมเผชิญความท้าทาย และยอมรับการถูกพิสูจน์ข้อสันนิษฐานที่ตนเองเชื่อถือ
  6. ระบบขององค์กร Organization:
    ระบบองค์กร (Organization) ที่ดี ในความหมายของการช่วยส่งเสริมให้บุคลากรเข้าใจมุมมองของตลาดและเทคโนโลยีในอนาคตได้ โดยองค์กรให้ความสำคัญกับกิจกรรมการคาดการณ์อนาคตอย่างต่อเนื่อง ขับเคลื่อนโดยผู้บริหารระดับสูง และได้รับการตอบสนองจากผู้ปฏิบัติงาน นอกจากนี้ ยังหมายถึง การเชื่อมโยงการประเมินสภาพแวดล้อมขององค์กรเข้ากับการพัฒนาองค์กรในมิติที่หลากหลาย เช่น การพัฒนานวัตกรรมองค์กร การวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการวิเคราะห์แนวโน้มพฤติกรรมของลูกค้าในอนาคต เป็นต้น

รูปที่ 2: ปัจจัยสู่ความสำเร็จสำคัญขององค์กรที่มีความพร้อมด้านการคาดการณ์อนาคต
ที่มา: ดัดแปลงจาก René Rohrbeck (2018)

กล่าวโดยสรุป องค์ประกอบทั้ง 6 ประการข้างต้น ทำหน้าที่เป็นตัวบ่งชี้ลักษณะภายในองค์กร สะท้อนความแข็งแกร่ง สมรรถนะ และแนวโน้มที่องค์กรจะประสบความสำเร็จในอนาคต เพราะการคาดการณ์อนาคตเชิงกลยุทธ์เป็นกระบวนการที่ต้องทำอย่างเป็นระบบ (Systematic) และเน้นเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกคน (Participatory) ทุกองค์ประกอบจึงมีความสำคัญในตัวเอง และมีความสัมพันธ์ระหว่างกันภายใต้กระบวนการการคาดการณ์อนาคตเชิงกลยุทธ์ (Perceiving-Prospecting-Probing) เนื่องจากการคาดการณ์อนาคตเชิงกลยุทธ์ เป็นกระบวนการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันในระยะยาว การรับรู้ร่วมกัน การลงมือทำร่วมกัน และการที่ทุกคนในองค์กรทำไปในทิศทางเดียวกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ

Reference

René Rohrbeck. (2010). Towards a maturity model for organizational future orientation. Academy of Management Annual Meeting Proceedings.

René Rohrbeck, (2018). Menes Etingue Kum. Corporate foresight and its impact on firm performance: A longitudinal analysis. Technological Forecasting & Social Change 129.

Howard Yu et al. (2022). What makes a company “Future Ready”?. Retrieved May 29, 2022, from https://hbr.org/2022/03/what-makes-a-company-future-ready

#FuturistNIDA #ให้คำปรึกษาด้านการมองอนาคต
#การคาดการณ์อนาคต #Foresight
 
= = = = = = = = = =
อ่านบทความอื่น ๆ และสนใจปรึกษาข้อมูลแนวคิดการมองอนาคตเพิ่มเติมได้ที่
Facebook Fanpage : FuturISt@NIDA