วัฒนธรรมทางการเมืองหมายถึงชุดของความหมาย ทัศนคติ ความเชื่อ และคุณค่าร่วมของสมาชิกหน่วยทางการเมืองที่กำกับกระบวนการของระบบการเมือง หรือพฤติกรรมของตัวแสดงในระบบการเมือง (Winkler, 2020) ซึ่งอาจจำแนกได้เป็น 3 ตัวแบบหลัก ได้แก่ วัฒนธรรมทางการเมืองแบบคับแคบ (parochial) วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า (subject) และวัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วม (participant) ทั้งนี้ วัฒนธรรมทางการเมืองของระบบการเมืองหนึ่งถูกประกอบสร้างจากดุลยภาพระหว่างตัวแบบเหล่านี้ (Almond & Verba, 1963, pp.17-20) ฉะนั้น การเปลี่ยนผ่านวัฒนธรรมทางการเมืองจึงเป็นกระบวนการวิวัฒน์หรือเปลี่ยนแปลงดุลยภาพดังกล่าวไปสู่ดุลยภาพใหม่

แนวโน้มในอนาคต
ดุลยภาพของวัฒนธรรมทางการเมืองไทย ซึ่งผสมผสานระหว่างตัวแบบไพร่ฟ้ากับมีส่วนร่วม มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไปสู่ตัวแบบมีส่วนร่วมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ชำนาญ จันทร์เรือง, 2016)
ความไม่เท่าเทียม การกดขี่ชนชั้นแรงงาน การขยายตัวของชนชั้นกลาง การเข้าถึงการศึกษา องค์ความรู้และข้อมูล และการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ จะเร่งให้กลุ่มประชาชนที่ยึดโยงกับวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมเป็นหลักมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามลำดับ
กลุ่มประชาชนที่ยึดโยงกับวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมเป็นหลักนี้จะตระหนักถึงความสำคัญและสนใจการเมือง กล้าที่จะใช้ปัญญาญาณของตนในการพิจารณาการเมืองและท้าทายการชี้นำของผู้ปกครอง รวมถึงพยายามมีส่วนร่วมทางการเมืองและมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะเพิ่มขึ้น
กลุ่มชนชั้นนำที่มีอำนาจและได้ผลประโยชน์ผ่านวัฒนธรรมแบบไพร่ฟ้าจะถูกท้าทาย และน่าจะสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ จึงมีแนวโน้มที่จะพยายามต่อต้านการเปลี่ยนผ่าน
กลุ่มประชาชนที่เดิมยึดโยงกับวัฒนธรรมแบบ ไพร่ฟ้าอาจตกอยู่ในภาวะไม่มั่นคง และอาจรับวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วม เพื่อดำเนินกิจกรรมในการพยายามรักษาชุดคุณค่าที่ตนยึดถือ

ผลกระทบต่อประเทศไทย
เสริมสร้างให้คุณค่าเสรีนิยม มนุษยนิยม โลก-นิยม ปัจเจกชนนิยม และคุณค่าแบบก้าวหน้าอื่น ๆ มีอิทธิพลในสังคมเพิ่มมากขึ้น ขณะที่คุณค่าซึ่งยึดโยงกับวัฒนธรรมแบบไพร่ฟ้า เช่น ชาตินิยม และคุณค่าเชิงศาสนา อาจมีอิทธิพลลดลง แต่ถูกประกอบสร้างให้สุดโต่งยิ่งขึ้น
ส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค
ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประชาชนที่ยึดโยงกับวัฒนธรรมต่างตัวแบบ กลุ่มชนชั้นนำที่ยึดโยงกับวัฒนธรรมไพร่ฟ้าอาจใช้ความรุนแรงในการกดขี่และปราบปรามผู้เห็นต่าง ในกรณีเช่นนั้น จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน บั่นทอนเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ
ส่งเสริมความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยและกลไกทางการเมือง ตลอดจนความรับผิดของผู้นำทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชน
พัฒนานโยบายของรัฐบาลและพรรคการเมืองให้สามารถสนองผลประโยชน์และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น
ลดการผูกขาดของธุรกิจใหญ่ของชนชั้นนำ และเปิดโอกาสให้ธุรกิจใหม่ได้พัฒนา เข้าสู่ตลาด และแข่งขันได้อย่างเป็นธรรมยิ่งขึ้น
เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์และเศรษฐกิจเทคโนโลยีขั้นสูง