ความเครียด

ปัญหาความเครียดเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุทั้งทางด้านร่างกายจากปัญหาสุขภาพและการเจ็บป่วยทางด้านจิตใจ เช่น ผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง เวลาที่มีเรื่องต่าง ๆ เข้ามากระตุ้นก็จะทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย หรือทางด้านสังคม เช่น ความขัดแย้งกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูง ความเครียดอาจจะส่งผลกระทบโดยตรงถึงร่างกายได้ เช่น ทำให้นอนไม่หลับ รับประทานอาหารไม่ได้ ปวดศีรษะ ร่างกายอ่อนเพลีย (สุดสบาย จุลกทัพพะ, 2554) 

แนวโน้มในอนาคต 

▪ ในปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับว่าความเครียดนั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นกับคนทั่วโลก โดยมีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุใหญ่คือวิถีชีวิตและการงาน แม้จะไม่สรุปได้ชัดเจนว่าความเครียดในสังคมสมัยใหม่นั้นเพิ่มขึ้นมากกว่าในอดีตหรือไม่ แต่ก็มีรายงานจำนวนมากที่ระบุว่าความเครียดที่เกี่ยวข้องกับงานนั้นเพิ่มขึ้นในสังคมสมัยใหม่ (Rich & Institute for Employment Studies, 1997, pp. 4–6)
▪ นอกจากนี้ยังพบว่าคนรุ่นใหม่มีความเครียดเพิ่มมากขึ้น โดยผลการสำรวจจาก The Economic Times พบว่ากลุ่มประชากรในช่วงวัย Gen Y และ Gen Z มีความเครียดสูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยมีสาเหตุมาจากเรื่องงาน ความมั่นคงทางการเงินและความกังวลถึงปัญหาสังคม (Alves, 2021) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาความเครียดยังไม่ได้รับการแก้ไขและมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น
▪ สำหรับประเทศไทย ผลการสำรวจในปี 2019 จากรายงาน 2019 Cigna 360 Well-Being Survey พบว่าประชากรไทยมีความเครียดสูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลก (จาก 23 ประเทศ) โดยเครียดเรื่องความมั่นคงทางการเงินและเครียดจากการทำงาน (ผู้จัดการออนไลน์, 2562)
▪ ยิ่งไปกว่านั้น การระบาดของโรค COVID-19 ยังกระตุ้นให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลในกลุ่มประชากรไทยเพิ่มมากขึ้น ผลการสำรวจพบว่าคนไทยกว่าร้อยละ 52 มีความเครียดเกินกว่าระดับปกติในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 (กรมสุขภาพจิต, 2564)

ผลกระทบต่อประเทศไทย  

▪ คนรุ่นใหม่เปิดเผยมากขึ้นในเรื่องความเครียดและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพทั้งกายและใจ ซึ่งจะส่งผลให้ปัญหาสุขภาพจิตกลายเป็นเรื่องธรรมดา (normalized) ในสายตาคนทั่วไปในสังคม ในประเทศไทยแม้ยังไม่มีการเก็บสถิติชัดเจนเท่ากับต่างประเทศ แต่ก็พบว่าในการให้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ประชากรวัยรุ่นเป็นกลุ่มที่ใช้บริการมากที่สุด (เปิดสถิติ วัยรุ่นไทยขอคำปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 มากสุด ปัญหาความเครียดอันดับ1, 2563) นอกจากนี้สถานการณ์ COVID-19 ยังกระตุ้นผู้คนออกมาพูดถึงปัญหาความเครียด และสุขภาพจิตอย่างจริงจังและเปิดเผยมากขึ้น
▪ ประชากรวัยแรงงานที่เป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมเผชิญกับความเครียดที่ส่งให้เกิดผลกระทบต่อการทำงาน ต่อตนเองและอาจจะกระทบไปถึงสภาพจิตใจของคนรอบตัวได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม
▪ การเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของปัญหาความเครียดจะทำให้รัฐบาลต้องหาทางแก้ไขปัญหาความเครียดและผลกระทบที่เกิดขึ้น มีการจัดการให้ความรู้ และตั้งศูนย์บริการให้ความรู้และคำปรึกษาสุขภาพจิตที่ทั่วถึง ตัวอย่างคือการจัดหลักสูตรแพทย์สาขาเวชศาสตร์ป้องกันแขนงสุขภาพจิตเพื่อเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอและให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้มากขึ้น (ฐานเศรษฐกิจ, 2560)