ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติเกิดจากคือ การที่ทรัพยากรธรรมชาติลดน้อยถอยลง และ/หรือ เสื่อมคุณภาพลง ซึ่งความเสื่อมโทรม ของทรัพยากรธรรมชาติเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น การบริโภคและใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินความจำเป็นของมนุษย์ มลพิษจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ที่ทำให้เกิดการปล่อยของเสีย เข้าไปปนเปื้อนในบรรยากาศ พื้นดินและในน้ำ (Pollution, 2011) การเสื่อมโทรมของธรรมชาติยังนำไปสู่ การขาดแคลนทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อีกด้วย โดยทรัพยากรสำคัญ 3 อย่างที่มนุษย์จะขาดแคลนคือ พลังงาน, น้ำและอาหาร (Klein et al., 2017) (Born & Krys, 2020)

แนวโน้มในอนาคต
ทรัพยากรธรรมชาติมีแนวโน้มจะเสื่อมโทรมลงเรื่อย ๆ จากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกและการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งทำให้เกิดการผลิตและการบริโภคจำนวนมหาศาล
มลพิษจะเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม ซึ่งจะเป็นปัญหาระดับนานาชาติที่ทุกประเทศต้องร่วมกันแก้ไข
มลพิษทางน้ำจากขยะและสารพิษ เช่น ไนโตรเจนและฟอสฟอรัสกำลังเป็นปัญหาใหญ่ ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ และภาวะขาดแคลนน้ำ โดยคาดว่าภายในปี 2050 มลพิษทางน้ำจะเป็นสาเหตุหลักในการตายของประชากรโลก เมื่อเทียบกับมลพิษชนิดอื่น ๆ (Study: Water Pollution Will Cause Most Victims in Future Global Hotspots, 2018)
ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรยังนำไปสู่การขาดแคลนทรัพยากร โดยปัญหาสำคัญคือการขาดแคลนทรัพยากรน้ำ ซึ่งคาดว่าภายใน 2050 ประชากรโลกกว่าครึ่งจะอยู่ในพื้นที่ขาดน้ำ (water stress area) น้ำจะกลายเป็นทรัพยากรที่ทุกฝ่ายต้องแย่งกัน เพราะน้ำไม่ได้ใช้แค่การบริโภคเท่านั้น แต่ยังต้องใช้เพื่อการประปา ไฟฟ้า การเกษตรและอุตสาหกรรม (Krys, 2018)

ผลกระทบต่อประเทศไทย
สภาพแวดล้อมของไทยเสื่อมโทรมเพราะไม่มีการเข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง จนอาจส่งผลกระทบถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและภาคการเกษตรซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยการผลิตหลักของเศรษฐกิจไทย
ประชากรซึ่งเป็นแรงงานในภาคการเกษตรและการท่องเที่ยวเกิดความไม่มั่นคงทางการเงินและในชีวิตจากความเสี่ยงในการตกงานหรือการที่รายได้ลดลง
รัฐจะถูกกดดันจากสถานการณ์และการเรียกร้องของประชาชนให้มีการออกกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างเฉพาะเจาะจง เช่น ในประเทศไทยที่ตอนนี้กำลังมีการผลักดันเสนอร่างพ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …. เพื่อจัดการปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่น PM. 2.5 โดยเฉพาะ ซึ่งมีถึงสี่ร่างทั้งจากส.ส. ประชาชนและ NGO
รัฐบาลไทยอาจได้รับผลกระทบและเผชิญความยากลำบากในการออกนโยบายต่างประเทศอันเป็นผลมาจากเกิดการแข่งขันและความขัดแย้งระหว่างประเทศเพื่อแย่งชิงทรัพยากรกัน เช่นในกรณีทะเลจีนใต้ หรือการพยายามครอบครองกรรมสิทธิ์อาณาเขตขั้วโลกเหนือของประเทศรัสเซีย แคนาดา เดนมาร์กและสหรัฐอเมริกา (Krys, 2018)
บทความที่เกี่ยวข้อง:
ไม่มีบทความที่เกี่ยวข้องสำหรับโพสต์นี้