ความไม่แน่นอนสำคัญที่ของระดับพื้นที่ (จังหวัดภูเก็ต)

ความไม่แน่นอนสำคัญที่ของระดับพื้นที่ (จังหวัดภูเก็ต)

ผลการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่ออนาคตแต่มีระดับความแน่นอนต่ำในระดับพื้นที่ (จังหวัดภูเก็ต) พบว่ามีปัจจัยความไม่แน่นอนหลากหลายปัจจัย อย่างไรก็ดีการสังเคราะห์ปัจจัยความไม่แน่นอนดังกล่าวให้เป็นปัจจัยความไม่แน่นอนสำคัญที่มีอิทธิพลต่ออนาคตในระดับพื้นที่ผ่านการควบรวมปัจจัยความไม่แน่นอนที่มีลักษณะร่วมกันและเกณฑ์การจัดลำดับความสำคัญสี่ประการคือ (1) ระดับความไม่แน่นอน (2) ขอบเขตของของภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ (3) ขนาดของผลกระทบ (4) ความลึกหรือผลสืบเนื่องของผลกระทบ

ผลการสังเคราะห์ปัจจัยความไม่แน่นอนให้เป็นปัจจัยความไม่แน่นอนสำคัญที่มีอิทธิพลต่ออนาคตในระดับประเทศ ทำให้สามารถสรุปปัจจัยความไม่แน่นอนสำคัญได้ 6 ปัจจัย คือ (1) โครงสร้างเศรษฐกิจที่กระจุกตัว ในบางกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือมีความหลากหลาย (2) การกระจายอำนาจลงสู่พื้นที่ให้มีอำนาจในการบริหารและตัดสินใจ (3) การมีสภาพแวดล้อมที่มีความน่าอยู่ในระดับสากล (4) ศักยภาพและความพร้อม ของทรัพยากรมนุษย์ในจังหวัด (5) ความสามารถในการบริหารการพัฒนาของหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ และ (6) ศักยภาพและความพร้อมของระบบนิเวศที่ส่งเสริมนวัตกรรมในรูปแบบต่าง ๆ

AU1 เศรษฐกิจขาเดียวหรือเศรษฐกิจสมดุล (Economy Diversification)

        ปัจจุบันการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตมีโครงสร้างรายได้จากภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเป็นหลักหรือที่หลายฝ่ายเรียกว่าเป็น ‘เศรษฐกิจขาเดียว’ ซึ่งจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วหากภาคการท่องเที่ยวเกิดวิกฤต เศรษฐกิจในภาพร่วมก็จะวิกฤตตามไปด้วยทันที จึงทำให้เกิดแนวคิดและความพยายามในการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อให้เศรษฐกิจของภูเก็ตมีความสมดุลและเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อรองรับการต้องเจอสถานการณ์ไม่คาดฝันแบบเดียวกับวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตและพฤติกรรมของผู้คนทั่วโลกในอนาคต โดยภาคเอกชนร่วมกับภาครัฐในภูเก็ตได้จัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดและเศรษฐกิจภายในจังหวัดตามกรอบ GEMMSS (G- Gastronomy, E- Education, M- Marina, M- Medical, S-Sport City, S-Smart City) เพื่อบูรณาการและต่อยอดจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไปยังธุรกิจและอุตสาหกรรมสาขาอื่น ๆ เช่น ด้านอาหาร ภูเก็ตสามารถสร้างคุณค่าและต่อยอดจากจุดแข็งด้านความเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารได้อีกมากในอนาคต เพราะความหลากหลายของอาหารในพื้นที่และการมีร้านอาหารที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศและระดับโลกในหลายประเภท เช่น ข้าวต้ม ติ่มซำ บักกุ๊ดเต๋ อาหารจีนฮกเกี้ยน อาหารใต้ อาหารทะเล ขนมต่าง ๆ เป็นต้น

        นอกจากนี้แล้ว หากสามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความหลากหลายและให้ธุรกิจต่อยอดไปในหลายสาขาได้จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงในโซ่คุณค่าต่าง ๆ เช่น ธุรกิจการดูแลสุขภาพ (Wellness) สามารถเชื่อมโยงไปกับการส่งเสริมผลิตภัณฑ์และการเกษตรแบบออร์แกนิก การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์เสริมความงามและอาหารสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาให้เศรษฐกิจภายในจังหวัดมีความหลากหลายขึ้นนี้จะทำให้การเติบโตมีความยั่งยืนและสมดุลขึ้น ทั้งยังจะช่วยให้ธุรกิจหลากหลายด้านในจังหวัดขยายตัว ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมกการเกษตร การแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่าง ๆ เป็นการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาจังหวัด ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยในจังหวัดสามารถเติบโตและพัฒนาแข่งกับกลุ่มทุนต่าง ๆ ได้ ทั้งยังจะส่งผลให้ชุมชนให้สามารถพึ่งตนเองได้ นำไปสู่การกระจายรายได้ที่เข้าถึงทุกคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง นอกจากภาคธุรกิจท้องถิ่นและประชาชนจะได้ประโยชน์แล้ว ความเข้มแข็งของทั้งสองภาคส่วนนี้ก็จะหนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมกับภาครัฐมากขึ้นของประชาชน ภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาสังคมอีกด้วย ทำให้เกิดการตรวจสอบ การมีส่วนร่วมมากขึ้นกับการวางนโยบาย ทำให้การปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง มีนโยบาย งบประมาณ และการบริหารจากภาครัฐที่ตอบสนองต่อการพัฒนาของพื้นที่มากขึ้นและตรงต่อประเด็นปัญหาที่พื้นที่ประสบ

        ในระยะยาว การพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตให้มีความสมดุลยังจะช่วยให้จังหวัดมีภูมิคุ้มกันต่อความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงฉับพลันจากภายนอกมากขึ้น หากมีสถานการณ์ไม่คาดคิดเช่น โรคอุบัติใหม่แบบเดียวกับโรคโควิด-19 หรือการผันผวนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นจากสถานการณ์การเมืองโลกหรือภัยธรรมชาติ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุไม่คาดฝันเหล่านี้จะลดความรุนแรงลด เนื่องจากเศรษฐกิจของภูเก็ตรวมถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่โดยรวมนั้นจะมีความมั่นคงและพึ่งพาตนเองได้มากกว่าในปัจจุบัน ที่สำคัญคือ หากจังหวัดภูเก็ตสามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้สมดุลได้ มีการแตกสาขาไปธุรกิจอื่น ๆ ที่ทำให้ธุรกิจรายย่อยในจังหวัดเข้มแข็ง ภูเก็ตจะกลายเป็นตัวอย่างให้แก่จังหวัดอื่น ๆ ในประเทศไทย ในด้านของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและการส่งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ส่วนท้องถิ่น สามารถเป็นต้นแบบของการพัฒนาได้

        อย่างไรก็ตาม ก็เป็นที่น่ากังวลว่าเศรษฐกิจภูเก็ตจะเป็นเศรษฐกิจขาเดียวเช่นนี้ต่อไป เนื่องจากมีความไม่แน่นอนหลายปัจจัย ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและวิถีชีวิตของผู้คนเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 แม้จะทำให้ผู้คนหันมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ออนไลน์มากขึ้นเช่น การทำงาน การเรียน การประชุม และเทคโนโลยียังช่วยสร้างคุณค่าให้กับมนุษย์ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการเดินทาง เช่น การประชุมและสัมมนาระหว่างประเทศแบบออนไลน์ หรือเทคโนโลยีเสมือนจริงต่างๆ ที่มีความรวดเร็วและไร้รอยต่อมากขึ้น แต่สำหรับการท่องเที่ยวนั้นก็ยังไม่แน่นักว่าจะถูกแทนที่ด้วยกิจกรรมออนไลน์หรือเทคโนโลยีโลกเสมือนไปได้ทั้งหมด นอกจากนี้โครงข่ายโทรคมนาคมที่มีคุณภาพสูงขึ้นจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 อาจทำให้มนุษย์มีอิสรภาพในการเดินทางมากขึ้น เนื่องจากความสามารถในการทำงานและติดต่อสื่อสารได้จากแทบทุกสถานที่บนโลกทำให้ผู้คนไม่จำเป็นต้องผูกติดกับสถานที่เพียงที่เดียวอีกต่อไป ทำให้การท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจนกลับมาอยู่ในระดับเดิมหรืออาจจะเพิ่มขึ้นด้วยก็เป็นได้ ซึ่งเหล่านี้อาจส่งผลให้ภาคเอกชนและภาครัฐบาลไม่สนใจที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคส่วนอื่น ๆ และหันกลับไปมุ่งเน้นเพียงแค่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวตามเดิม ยิ่งไปกว่านั้น นโยบายของรัฐบาลในระดับประเทศอาจจะยังคงต้องการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตเป็นหลัก โดยไม่ให้ความสำคัญหรือไม่สามารถที่จะสร้าง การเติบโตในสาขาเศรษฐกิจใหม่ให้เกิดขึ้นได้ (อาทิเช่น เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจบริการเพื่อสร้างองค์ความรู้และการวิจัยพัฒนา ดังที่กล่าวไปแล้ว เป็นต้น)

AU2 ท้องถิ่นมีอำนาจหรือควบคุมจากส่วนกลาง (Local Empowerment)

        ภูเก็ตมีการปกครองแบบเดียวกับจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศไทย คือมีการควบคุมและบริหารจากรัฐบาลกลางเป็นหลัก โดยราชการบริหารส่วนภูมิภาคมีอำนาจในการตัดสินใจและปฏิบัติงานในบางส่วน อย่างไรก็ดี ได้มีการนำเสนอถึงการปรับเปลี่ยนให้ภูเก็ตเป็นเขตปกครองพิเศษแบบเดียวกับกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา โดยให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการบริหารและปกครองตนเอง ทั้งนี้เพราะภูเก็ตแม้จะเป็นจังหวัดที่มีการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว มีการอพยพเข้ามาของประชากรจำนวนมากและสร้างรายได้ให้กับประเทศหลายแสนล้านบาท แต่กลับยังมีปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา การจัดการขยะมูลฝอย ระบบขนส่งมวลชน ซึ่งเป็นปัญหาที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลานานเนื่องจากโครงสร้างการบริหารของภาครัฐทั้งส่วนท้องถิ่นและส่วนกลางไม่สามารถปรับตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของจังหวัดที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้ (จำรัส ปิติกุลสถิตย์, 2561)

        หากภูเก็ตกลายเป็นเขตปกครองพิเศษหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการบริหารงานและตัดสินใจมากขึ้น ทั้งยังเกิดความเป็นเอกภาพเนื่องจากอำนาจสั่งการจะอยู่ที่ท้องถิ่นซึ่งมีสภาและผู้ว่าที่คนในพื้นที่เลือก โดยไม่ต้องผูกติดอยู่ที่กระทรวงส่วนกลาง ทั้งการบริหารและการของบประมาณก็จะลดขั้นตอนและความยุ่งยากลง เป็นการแก้ปัญหาจัดสรรงบประมาณ ซึ่งเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สั่งสมมานาน ซึ่งในปัจจุบันภูเก็ตได้รับการจัดสรรงบจากส่วนกลางมายังจังหวัด โดยงบนั้นอิงกับขนาดของประชากร ภูเก็ตซึ่งปรากฎจำนวนประชากรเพียงสามแสนกว่าจึงได้งบประมาณน้อยกว่าที่จำเป็นต้องใช้และไม่สอดคล้องกับจำนวนประชากรที่อยู่ในจังหวัดจริง ๆ ทำให้มีปัญหาในการพัฒนาหลายด้าน โดยไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับจำนวนประชากรจริงในพื้นที่ นอกจากนั้น การบริหารที่รวดเร็วขึ้นจะยังทำให้นโยบายและการปฏิบัติงานต่าง ๆ ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่รวมถึงนักท่องเที่ยวจำนวนมากได้ดีขึ้น ที่สำคัญที่สุดคือ คุณภาพชีวิตของประชากร ไม่ว่าจะเป็นประชากรตามทะเบียนบ้าน ประชากรแฝง นักท่องเที่ยวทั้งระยะสั้นและระยะยาวจะพัฒนาขึ้น

        การให้ภูเก็ตเป็นเขตปกครองพิเศษยังจะช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของภูเก็ตขยายตัวและพัฒนาขยายตัวไปยังภาคส่วนอื่น ๆ นอกเหนือไปจากการท่องเที่ยวได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายโดยเฉพาะภาคเอกชนในภูเก็ตได้ยกขึ้นมานำเสนอ ทั้งนี้เพราะการขยายสาขาของธุรกิจหลายด้าน เช่น ธุรกิจตามกรอบ GEMMSS (Gastro – Edu – Marina – Medical – Sport – Smart City) หลายด้านต้องอาศัยเงินอุดหนุนจากรัฐบาลก่อน ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาธุรกิจด้าน Marina ที่ต้องใช้ท่าเรือน้ำลึก ซึ่งต้องใช้เงินจากส่วนกลางมาลงทุนก่อน หรือการเป็น Smart City ที่ต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล หรือการผลักดันภูเก็ตให้เป็น “บ้านหลังที่สองน่าอยู่” ของผู้คนรอบโลกที่มีกำลังซื้อนั้นก็ต้องอาศัยการแก้กฎหมายให้ชาวต่างชาติเป็น Resident ได้ง่ายขึ้นหรือลดความยุ่งยากของการทำเอกสารและรายงานตัว ซึ่งเหล่านี้ยังติดขัดจากกระบวนการบริหารที่ผูกติดกับส่วนกลาง ซึ่งหากแก้ไขได้จะทำให้เศรษฐกิจของภูเก็ตเติบโตอย่างสมดุลขึ้นและยั่งยืนขึ้น ทั้งยังจะเป็นการสร้างงานที่หลากหลายให้กับคนในพื้นที่และเปิดโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่นอีกด้วย

        นอกจากนี้แล้ว ในระยะยาว การที่ภูเก็ตกลายเป็นเขตปกครองพิเศษหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สามารถบริหารจัดการตนเองไอย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นเหมือน Sandbox ให้แก่จังหวัดอื่น ๆ ในประเทศ ที่ถึงแม้จะไม่ได้เป็นเขตปกครองพิเศษแต่ก็สามารถใช้ภูเก็ตเป็นต้นแบบของการส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ภูมิภาคและพื้นที่ โดยทั้งรับบาลส่วนกลางและราชการส่วนท้องถิ่นของแต่ละจังหวัดอาจจะมองเห็นแนวทางในการกระจายอำนาจการบริหารสู่ท้องถิ่นและการพัฒนาท้องถิ่นในด้านเศรษฐกิจ สังคม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนากลไกให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมมากขึ้น

        กระแสความต้องการให้ภูเก็ตเป็นเขตปกครองพิเศษของคนในพื้นที่และประโยชน์ในหลายด้านที่จะเกิดขึ้นตามมาอาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้รัฐบาลกลางตัดสินใจให้จังหวัดภูเก็ตได้เปลี่ยนเป็นจังหวัดปกครองตนเอง อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้เช่นกันที่รัฐบาลอาจยังคงใช้นโยบายที่เน้นการควบคุมและบริหารการพัฒนาจากส่วนกลาง เนื่องจากมองไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องให้ภูเก็ตเป็นเขตปกครองพิเศษ เห็นได้จากการตอบสนองต่อข้อเสนอของภาคเอกชนภูเก็ตและหน่วยงานท้องถิ่นที่เสนอให้ภูเก็ตเป็นเขตปกครองพิเศษ ซึ่งทางรัฐบาลได้ให้การปฏิเสธมาตลอด เช่นในการประชุมร่วมของภาคเอกชนฝั่งอันดามันทั้งภูเก็ต พังงา กระบี่ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวเมื่อปี พ.ศ. 2561 ที่มีการนำเรื่องนี้ขึ้นเสนอ นายวีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในขณะนั้นได้ให้คำตอบต่อข้อเสนอนี้ว่า “การแก้ปัญหาและการพัฒนาการท่องเที่ยวของภูเก็ต สู่ความยังยืนนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่ว่าจะต้องให้ภูเก็ตเป็นอะไรที่พิเศษกว่าพื้นที่อื่น ๆ เพราะเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก” (Phuket Price, 2018) เหล่านี้ประกอบกับแนวคิดการบริหารงานของรัฐไทยที่มุ่งเน้นที่การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางเป็นหลักทำให้เป็นการยากที่จะคาดการณ์ได้ว่าภูเก็ตจะสามารถเปลี่ยนเป็นเขตปกครองพิเศษได้หรือไม่

        เป็นไปได้ที่รัฐบาลกลางจะยังคงรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางเช่นเดิม แต่มุ่งใช้ประโยชน์จากการพัฒนาของเทคโนโลยีมาส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น หรือมาเพิ่มความรวดเร็วในการบริหารราชการแผ่นดินและการให้บริการสาธารณะ

AU3 สิ่งแวดล้อมน่าอยู่หรือสุดเสื่อมโทรม (Livable Environment)

        การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วจากการเติบโตแบบก้าวกระโดดของเศรษฐกิจภูเก็ตประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวมหาศาลที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่อย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบอย่างมากต่อทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติของจังหวัด เกิดเป็นปัญหาเช่น ปัญหาขยะมูลฝอยที่มีปริมาณมากเกินจะจัดการได้ทัน ปัญหาขยะทะเล ปัญหาน้ำเสีย ปัญหามลภาวะทางอากาศ หรือแม้แต่ปัญหาการจราจรที่เริ่มปรากฏชัดขึ้น นอกจากนี้สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เป็นจุดเด่น เช่น ชายหาดหรือปะการังก็ได้รับผลกระทบและเสื่อมโทรมลงเช่นกัน ซึ่งทำให้เป็นที่วิตกกังวลว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้จะทำให้ภูเก็ตไม่น่าอยู่อีกต่อไป มนต์เสน่ห์ที่เคยดึงดูดผู้คนมากมายจะเสื่อมลงไปพร้อมกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

        อย่างไรก็ตาม ได้ปรากฏความพยายามในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม หลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้การท่องเที่ยวของภูเก็ตต้องชะงักไปราวสองปีและทรัพยากรธรรมชาติบางส่วนได้กลับมาฟื้นตัว ความตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ สวยงามและน่าอยู่ของจังหวัดก็ยิ่งเพิ่มขึ้น โดยหลายฝ่ายตระหนักว่าสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ภูเก็ตสามารถพัฒนาและขยายเศรษฐกิจต่อไปได้ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดที่วางไว้ เนื่องจากยุทธศาสตร์หลายตัวที่ต้องพึ่งพาเสน่ห์ความงามตามธรรมชาติของภูเก็ต เช่น การท่องเที่ยวด้าน Wellness หรือการชูให้ภูเก็ตเป็นบ้านหลังที่สองที่น่าอยู่ของนักท่องเที่ยว เป็นต้น

        นอกจากนี้ภาครัฐเองก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์และเอื้อต่อการใช้ชีวิต ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างยืนของคุณภาพชีวิตของผู้คนในจังหวัด โดยในแผนพัฒนาจังหวัดภูเก็ต ฉบับทบทวนปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้มุ่งให้จังหวัดภูเก็ตมีระบบจัดการทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีและยั่งยืน ในแผนพัฒนาได้มีการจัดทำโครงการ “ภูเก็ตเมืองงามด้วยความสะอาด” เพื่อแก้ปัญหาขยะ น้ำเสียและความเสื่อมโทรมของสถานท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและโครงการนำเทคโนโลยี Big Data มาจัดการกับข้อมูลน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเสีย

        หากปัญหาสิ่งแวดล้อมได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบต่อไป ไม่เพียงแต่จะส่งผลดีต่อประชากรในพื้นที่และนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเท่านั้น แต่ภูเก็ตจะยิ่งมีภาพลักษณ์ว่าเป็นเมืองสิ่งแวดล้อม เป็นเมืองน่าอยู่ในสายตาของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ไม่เพียงแต่ธุรกิจการท่องเที่ยวทั่วไปจะขยายตัวเท่านั้น แต่ตลาดการท่องเที่ยว workation กับการพัฒนาให้ภูเก็ตเป็นบ้านหลังที่สองก็จะขยายตัวตามไปด้วย เนื่องจากสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีจะเป็นตัวดึงดูดให้ผู้คนอยากมาอยู่ที่ภูเก็ตในระยะเวลายาที่ยาวนาน ส่งให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์เติบโต ทั้งยังจะเกิดการลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ เพื่อรองรับการเข้ามาพักอาศัยของผู้คน เกิดเป็นโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อยในพื้นที่และนักลงทุนในประเทศ รวมถึงเป็นโอกาสในการทำงานของคนในพื้นที่ นอกจากนี้ ทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ สิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่ยังช่วยทำให้ผู้คนในพื้น โดยเฉพาะกลุ่มชาวบ้าน เช่น ชาวบ้านบนเกาะโหลน ไม่ต้องอพยพออกนอกพื้นที่เพื่อแสวงหาโอกาสในการทำงาน แต่สามารถใช้ชีวิตอย่างพึ่งพาตนเองได้และสามารถอนุรักษ์วิถีชีวิตของตนต่อไปได้โดนไม่สูญหายไปกับกาลเวลา นับเป็นการสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมที่มีลักษระโดดเด่นเฉพาะของคนแต่ละกลุ่มไว้

        อีกปัจจัยที่อาจจะส่งเสริมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและส่งให้ภูเก็ตมีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นคือ สถานการณ์โลกและพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไปหลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 อาจจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง เนื่องจากผู้คนนิยมท่องเที่ยวน้อยลง โดยอาจจะเที่ยวไม่ถี่เหมือนในอดีต ผู้คนอาจจะนิยมท่องเที่ยวในพื้นที่ใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นในประเทศของตนเอง ในจังหวัดของตนเองมากขึ้นก็เป็นได้ ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังภูเก็ตลดลง ซึ่งในจุดนี้จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้ในระดับและยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวที่หวังจะมุ่งเป้าเจาะตลาดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพโดยไม่เน้นปริมาณ คือ เน้นนักท่องเที่ยวมีกำลังซื้อ สามารถอยู่นานได้

        แต่ทว่า มีปัจจัยที่น่ากังวลหลายข้อที่อาจจะทำให้อนาคตความเป็นเมืองน่าอยู่ สิ่งแวดล้อมสมบูรณ์ของภูเก็ตไม่เป็นไปอย่างที่ต้องการไว้ คือการขยายตัวของเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวที่อาจจะกลับมาเป็นปกติหลังวิกฤตโรคโควิด-19ได้ผ่านไป และเป็นการเติบโตแบบขาดความระมัดระวังเช่นเดิม โดยความพยายามในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมของภาคประชาชน ภาคเอกชนและภาครัฐนั้นไม่เป็นผล ทั้งนี้อาจเป็นเพราะขาดความใส่ใจที่จะลงมือปฏิบัติอย่างแท้จริงและโครงการที่ภาครัฐพัฒนานั้นไม่ได้รับการสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นในด้านงบประมาณที่ได้รับจากส่วนกลางไม่เพียงพอ กำลังคนที่น้อย การขาดการติดตามประเมินผลโครงการ เหล่านี้จะส่งผลให้ทรัพยากรการท่องเที่ยวทางธรรมชาติของจังหวัดภูเก็ตมีความเสื่อมโทรมมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งจากการทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติด้วยการบุกรุกธรรมชาติที่มากขึ้นหรือการปลดปล่อยมลพิษทั้งน้ำเสีย อากาศเสีย และขยะที่เพิ่มมากขึ้น จนในระยะยาว ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะถึงขั้นทำให้ภูเก็ตเป็นเมืองที่ไม่น่าท่องเที่ยวอีกต่อไป กล่าวคือเป็นอนาคตภูเก็ตเมืองร้างที่หมดเสน่ห์ ไม่มีนักท่องเที่ยว และประชากรในพื้นที่ยังต้องเผชิญปัญหาทางด้านคุณภาพชีวิตและปัญหาสุขภาพ นอกจากนี้พื้นที่ยังหมดสิ้นทรัพยากร ผู้ประกอบการและแรงงานไม่มีโอกาสในการพัฒนาธุรกิจหรือสร้างงานภายในจังหวัด ทำให้ผู้คนจำนวนมากอพยพออกจากจังหวัด ยิ่งกว่านั้นแล้ว ในอนาคตอีกหลายสิบหลายร้อยปีข้างหน้า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจะยังคงอยู่และผลกระทบจะตกอยู่ที่ประชากรในอนาคตของจังหวัด

AU4 ทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพพร้อมพัฒนาหรือไม่พร้อมต่อการพัฒนา (Manpower Readiness)

        การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี สังคม เศรษฐกิจ ทำให้ความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงและศักยภาพในการพัฒนาของประชากรนั้นเป็นประเด็นสำคัญในระดับชาติ โดยการเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหากับดับรายได้ปานกลางของประเทศไทย (Bandaogo, 2020) เห็นได้ชัดว่าทางภาครัฐเองก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพของประชากรเช่นกัน โดยได้กำหนดให้ประเด็นนี้เป็นหนึ่งในเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

        จังหวัดภูเก็ตเองนอกจากจะต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศแล้ว คุณลักษณะของภูเก็ตเองยังทำให้การพัฒนาศักยภาพมนุษย์กลายเป็นประเด็นสำคัญในระดับสูง เนื่องจากภูเก็ตเป็นพื้นที่ที่ต้องเผชิญและได้รับผลกระทบจากกระแสการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกอย่างต่อเนื่องและชัดเจน เนื่องจากเศรษฐกิจของจังหวัดที่ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลกและขึ้นกับสถานการณ์โลกในหลายด้าน รวมถึงลักษณะความเป็นเมืองนานาชาติของภูเก็ต ดังนั้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงและพร้อมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและขับเคลื่อนจังหวัดไปข้างหน้าจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับภูเก็ตและสำคัญต่อการพัฒนาในทุกมิติของจังหวัด แต่อย่างไรก็ตาม แม้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นี้จะสำคัญ แต่เป็นการยากที่จะตอบได้อย่างแน่นอนว่าการพัฒนาดังกล่าวจะสำเร็จหรือไม่ หรือทรัพยากรมนุษย์ของภูเก็ตในอนาคตจะไม่มีศักยภาพและไม่พร้อมที่จะรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากการพัฒนานี้ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในหลายปัจจัย

        การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของจังหวัดภูเก็ตมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะเป็นไปในทิศทางใดเนื่องจากขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่สามารถคาดการณ์ได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการปฏิบัติตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเหล่านี้ยังเกี่ยวถึงอำนาจและทรัพยากรทั้งด้านการเงินและบุคคลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับท้องถิ่นของจังหวัดอีกด้วย แน่นอนว่าความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทำให้ภาครัฐทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่นของจังหวัดมีการวางนโยบายและแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นอกจากแผนยุทธศาสตร์ชาติแล้ว จังหวัดภูเก็ตยังมีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตที่ระบุว่าการเพิ่มประสิทธิภาพของทรัพยากรบุคคลเป็นเป้าหมายของการเพิ่มศักยภาพในด้านต่าง ๆ ของจังหวัด ซึ่งหากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวมีการดำเนินตามนโยบายและแผนที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง จริงจังและมีการติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินการ ประชากรในพื้นที่ก็จะได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านทักษะ ความรู้และความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง แต่ในทางกลับกัน หากภาครัฐไม่สามารถดําเนินนโยบายตามที่วางไว้ได้ ผลที่เกิดขึ้นก็จะเป็นไปในทางตรงข้าม ซึ่งดังที่กล่าวไป ความสามารถในการดำเนินนโยบายของภาครัฐเป็นจุดที่น่าวิตกกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาถึงปัญหาที่สั่งสมมานานถึงความล่าช้าและการขาดประสิทธิภาพในการปรับตัวและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นของฝ่ายราชการส่วนท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งส่งผลให้ปัญหาหลายอย่างมีการสั่งสมมานานและยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างสมควร เช่นปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ไฟฟ้า น้ำประปา การจัดการขยะมูลฝอย ระบบขนส่งมวลชน

        นอกจากปัจจัยจากภาครัฐแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยีก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สามารถส่งผลกระทบทางบวกหรือทางลบต่อศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ได้ การพัฒนาในอัตราเร่งของเทคโนโลยีต่าง ๆ และการหลอมรวมกันของการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านั้น เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ เทคโนโลยีการประมวลผลขั้นสูง เป็นต้น ส่งผลให้เทคโนโลยีเท่านั้นมีความสามารถในการทำงานหลายอย่างได้มีประสิทธิภาพและสามารถทำงานบางส่วนแทนมนุษย์ได้ ซึ่งอาจจะเป็นตัวผลักดันให้มนุษย์ต้องพัฒนาศักยภาพและทักษะในการทำงาน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีเพื่อปรับตัวรับกับลักษณะงานที่เปลี่ยนไป (กล่าวคือ มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น มีการขยายสู่สาขาใหม่ ๆ จากการบูรณาการกับเทคโนโลยี เป็นต้น) นอกจากนั้นเทคโนโลยีอาจจะเป็นตัวสนับสนุนและขับเคลื่อนการพัฒนาของมนุษย์ โดยช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานและทำกิจกรรมต่าง ๆ สามารถทำงานหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆได้มากขึ้นกว่าเดิมแบบก้าวกระโดด แต่ในทางกลับกันเทคโนโลยีก็อาจจะทำให้มนุษย์เหลือสิ่งที่ตัวเองทำได้ดีกว่าเทคโนโลยีน้อยลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งมนุษย์แทบไม่มีสิ่งใดที่ทำได้ดีไปกว่าเทคโนโลยีได้ ทำให้ไม่เกิดการพัฒนาศักยภาพอีกต่อไป

        อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อความแน่นอนในการเกิดขึ้นของการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ของจังหวัดภูเก็ตคือลักษณะทางเศรษฐกิจของภูเก็ตซึ่งอิงกับการท้องเที่ยวเป็นหลักอย่างที่เรียกว่า เศรษฐกิจขาเดียว ซึ่งปัจจัยนี้เป็นดาบสองคม ในแง่หนึ่ง หลังจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เศรษฐกิจของภูเก็ตนั้นกลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจและทั้งภาคเอกชนและภาครัฐได้เริ่มเล็งเห็นความสำคัญของการขยายสาขาเศรษฐกิจของจังหวัดให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อความสมดุลและสร้างภูมิคุ้มกันให้เศรษฐกิจของจังหวัดเอง ซึ่งได้มีการวางยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างภูเก็ตให้เป็นศูนย์กลางการทำงานแบบ workation การพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ การส่งเสริมเศรษฐกิจแพลตฟอร์มและสตาร์ทอัพของท้องถิ่น หารพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การสร้างภูเก็ตให้เป็นเมืองการศึกษานานาชาติ หรือแม้แต่การท่องเที่ยวเองก็ยังมีการวางยุทธศาสตร์ให้รูปแบบธุรกิจการท่องเที่ยวมีการแตกสาขาออกไปอีกตามกรอบ GEMMSS (G- Gastronomy, E- Education, M- Marina, M- Medical, S-Sport City, S-Smart City) ซึ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งพากำลังคนที่มีทักษะและความรู้ตามสายงานที่ต้องการพัฒนา ซึ่งความต้องการนี้จะเป็นตัวผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและฝึกฝนทักษะของทรัพยากรมนุษย์ในพื้นที่อย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นประชากรในวัยทำงานหรือวัยเรียน และไม่ว่าจะเป็นประชากรไทยหรือประชากรต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเพื่อทำงานและเรียนต่อในจังหวัด

        แต่ทว่า ในอีกทางหนึ่ง เศรษฐกิจขาเดียวที่อิงกับการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตอาจจะส่งให้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามที่วางแผนไว้ เนื่องจากการท่องเที่ยวของทั่วโลกรวมถึงของภูเก็ตเริ่มมีทีท่าที่จะกลับมาฟื้นตัวหลังการระบาดของโรคโควิด-19 และการเปิดพรมแดนของประเทศต่าง ๆ และเป็นไปได้ว่าหากการท่องเที่ยวของภูเก็ตกลับมาเฟื่องฟูเช่นเดิม การผลักดันนโยบาย แผนยุทธศาตร์การพัฒนาเศรษฐกิจให้สมดุลขึ้นของจังหวัดก็อาจจะได้รับความสนใจน้อยลง โดยที่ทุกฝ่ายหันกลับไปให้ความสนใจกับธุรกิจการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวเช่นเดิม ทำให้ไม่เกิดการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพในด้านต่าง ๆ ของประชากรในจังหวัด เนื่องจากไม่มีอุปสงค์ให้ต้องทำอีกต่อไป

        ดังที่ได้กล่าวไป ทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพพร้อมพัฒนาและรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงนั้นมีความสำคัญต่อการพัฒนาในทุกมิติของจังหวัดภูเก็ตและยังจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและสืบเนื่องในระยะยาวอีกด้วย ดังที่จะสามารถแจกแจงได้ตามตัวอย่างต่อไปนี้

  • การพัฒนาระบบการศึกษา – การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้นจำเป็นต้องเริ่มต้นที่ระบบการศึกษา ซึ่งหากการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะสำเร็จได้แปลว่าระบบการศึกษานั้นจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม เป็นระบบที่เข้าใจผู้เรียนและส่งเสริมความสามารถของผู้เรียนทั้งด้านวิชาการและทักษะความสนใจอื่น ๆ และสามารถเข้าถึงได้โดยประชากรที่กลุ่ม ซึ่งการพัฒนาระบบการศึกษาที่ได้ผลนั้นนอกจากจะส่งผลที่เห็นได้ชัดเจนต่อประชากรในด้านการเพิ่มโอกาสในการทำงานและสร้างรายได้แล้ว ผลในระยะยาวคือคุณภาพชีวิตของประชากรจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เนื่องจากโอกาสในชีวิตที่เพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม หากการพัฒนาระบบการศึกษาไม่พัฒนา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ก็จะเกิดขึ้นได้ยาก ทั้งยังเป็นการตัดโอกาสในชีวิตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการงาน การเข้าถึงโอกาส การสามารถเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชากรอีกด้วย
  • เศรษฐกิจพัฒนาอย่างยั่งยืน – การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะช่วยส่งผลให้ความพยายามในการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดให้เติบโตในหลายด้านขึ้นเป็นไปได้อย่างประสบผลสำเร็จ และการที่คนในพื้นที่มีศักยภาพและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐยังจะช่วยทำให้เกิดการพัฒนาของธุรกิจท้องถิ่น เกิดการสร้างสรรค์ผลงาน นวัตกรรมใหม่ ๆ ในท้องถิ่น นำไปสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืนของเศรษฐกิจท้องถิ่นในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้น การที่เศรษฐกิจพัฒนาอย่างหลากหลายและยั่งยืน ในระยะยาวยังมีแนวโน้มที่จะช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องที่ได้เนื่องจากจังหวัดพึ่งพาการท่องเที่ยวน้อยลง ไม่จำเป็นต้องรับนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลเพื่อสร้างรายได้ ทำให้สามารถจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเพื่อให้สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติสามารถคงอยู่ต่อไปและฟื้นฟูตัวเองได้
AU5 การบริหารการปกครองสาธารณะแบบใหม่หรือแบบดั้งเดิม (Public Governance)

        การบริหารการปกครองสาธารณะแบบดั้งเดิมนั้นคือการบริหารและดำเนินงานตามแบบแผนของราชการไทย โดยข้าราชการระดับสูงจะเป็นผู้กำหนดนโยบายสาธารณะให้แก่ข้าราชการระดับล่างนำไปปฏิบัติ โดยไม่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน (ธนภูมิ นราธิปกรและคณะ, 2562) อย่างไรก็ตาม ในยุคปัจจุบัน การบริหารเช่นนี้เริ่มไม่เหมาะสมอีกต่อไป เนื่องจากทั้งการเปลี่ยนแปลงของประชากร การขยายตัวประชากร การขยายตัวของเศรษฐกิจและความเป็นเมืองในแต่ละพื้นที่ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว การบริหารจากบนลงล่างที่เชื่องช้า ห่างไกลและตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงจึงไม่มีประสิทธิภาพพอ จึงได้มีการเสนอถึงการบริหารการปกครองสาธารณะแบบใหม่ ซึ่งคือการที่ภาคประชาชน เช่นภาคธุรกิจ ชุมชน กลุ่มในภาคประชาสังคมได้เข้าร่วมดำเนินงานสาธารณะกับภาครัฐ (สมศักดิ์ สามัคคีธรรม & ปรีดา วานิชภูมิ, 2556)

        ซึ่งสำหรับจังหวัดภูเก็ตที่มีปัญหาด้านการทำงานที่ล่าช้าและไม่ทันการของภาครัฐมานาน จนทำให้เกิดการอภิปรายและถกเถียงในหลายภาคส่วนว่าภูเก็ตควรจะเป็นเขตปกครองพิเศษหรือไม่ การบริหารการปกครองสาธารณะแบบใหม่ดูจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมและสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาที่เรื้อรังนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง คล้ายคลึงกับปัญหาที่ว่าควรให้ให้จังหวัดภูเก็ตเป็นเขตปกครองพิเศษหรือไม่ เนื่องจากขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แม้ว่าจะมีแนวโน้มความเป็นไปได้สูงกว่าการเป็นเขตปกครองพิเศษก็ตาม โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งให้การบริหารการปกครองสาธารณะแบบใหม่มีความไม่แน่นอนสูงว่าจะเกิดขึ้นได้และประสบความสำเร็จหรือไม่ก็คือการสนับสนุนและมีส่วนร่วมจากภาครัฐ แน่นอนว่าภาคประชาชน ประชาสังคมและเอกชนสามารถร่วมมือกันจัดทำโครงการการพัฒนาต่าง ๆ ได้ แต่การพัฒนาเหล่านี้ก็ยังต้องพึ่งพาความสนับสนุนจากภาครัฐ ตัวอย่างเช่น ความร่วมมือในการวางแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาของจังหวัดขอนแก่นที่เป็นการร่วมมือกันของ 5 ภาคส่วน ได้แก่ สถานศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและสื่อ และประชาชน ซึ่งปัจจุบันแม้จะได้รับการอนุมัติแล้วก็ตาม แต่ยังไม่สามารถเริ่มการก่อสร้างได้เพราะต้องรอคอยการอนุมัติโดยหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นจากส่วนกลาง ดังนั้นจะเห็นได้ว่า หากปราศจากการสนับสนุนและความร่วมมือจากภาครัฐแล้ว สุดท้ายการบริหารและการดำเนินการต่าง ๆ ก็อาจจะเป็นไปอย่างเชื่องช้าเช่นเดิม ส่งให้การพัฒนาและการขับเคลื่อนการพัฒนาเป็นไปได้อย่างไม่เต็มศักยภาพตามที่สมควร

        อีกปัจจัยที่ส่งให้เกิดความไม่แน่นอนสูงและทำให้เป็นการยากที่จะคาดการณ์ว่าการบริหารการปกครองสาธารณะแบบใหม่จะเป็นไปในรูปแบบใด จะเกิดขึ้นได้และประสบความสำเร็จหรือไม่คือการมีส่วนร่วมและความใส่ใจของภาคประชาชนและภาคเอกชน ซึ่งการที่ทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะภาคประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารสาธารณะได้นั้น ประชาชนในพื้นที่จะต้องตระหนักถึงสิทธิและอำนาจของตนเอง โดยประชาชนจะต้องตระหนักว่าตนเองมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมและกำหนดการบริหารร่วมกับภาครัฐ การตระหนักรู้เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจากการที่ประชาชนมีความรู้และตระหนักถึงสิทธิ หน้าที่และอำนาจของตนเอง รวมทั้งมีความรู้ถึงกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนตามกฎหมาย ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องเริ่มที่การเข้าถึงความรู้รวมไปถึงระบบการศึกษา นอกจากระบบการศึกษาจะต้องมีการพัฒนาแล้ว การเข้าถึงความรู้สำหรับคนทุกวัยจะต้องเปิดกว้างขึ้นเช่นกัน การทำให้ความรู้เข้าถึงได้ง่ายสำหรับทุกคนเป็นสิ่งสำคัญ และในปัจจุบันความรู้หลายด้านก็สามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดายขึ้น แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันคือการเผยแพร่ให้ทุกคนรู้ว่าช่องทางการเข้าถึงและศึกษาหาความรู้เหล่านั้นอยู่ที่ไหน จะเข้าถึงได้อย่างไร ซึ่งในประเด็นนี้เองเป็นสิ่งที่ยังเป็นปัญหาอยู่มาก และหากปราศจากการตระหนักถึงสิทธิและอำนาจของตนเองแล้ว การมีส่วนร่วมนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย

        ดังที่ได้กล่าวไป การบริหารการปกครองสาธารณะแบบใหม่ดูจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมและสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาที่เรื้อรังด้านอำนาจในการบริหารของจังหวัดภูเก็ตได้และจะนำไปสู่การแก้ปัญหาในหลายด้านที่สั่งสมมานานจากการบริหารงานที่ล่าช้า ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและขยายตัวของจังหวัด เช่น ปัญหาด้านสาธารณูปโภค ปัญหาขยะ ปัญหาด้านขนส่งสาธารณะ นอกจากนี้ยังจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาชนและภาคธุรกิจในพื้นที่ การมีส่วนร่วมในการบริหารและวางนโยบายสาธารณะหลากหลายด้านภายในท้องถิ่นยังช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่ท้องถิ่นและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องจากการบริหารและนโยบายต่าง ๆ นั้นมาจากคนในพื้นที่ มาจากฐานรากจริง ๆ ยิ่งไปกว่านั้น การบริหารการปกครองสาธารณะแบบใหม่นั้น หากสามารถดำเนินการได้อย่างประสบความสำเร็จในภูเก็ต ยังจะส่งผลกระทบต่อจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ เนื่องจากจะสามารถเป็นต้นแบบของการบริหารการปกครองสาธารณะแบบใหม่ และกระตุ้นให้แต่ละพื้นที่มีการบริหารและพัฒนาโดยเน้นที่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภาคเอกชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่นอย่างแท้จริง ไม่ใช่การบริหารจากบนลงล่างที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพออีกต่อไป ซึ่งหากกระทำได้จริงในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ จะเป็นการพลิกโฉมการบริหารและระบบราชการไทย ทั้งยังจะช่วยให้แต่ละท้องถิ่นพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพของตัวเองนำไปสู่การพัฒนาทั้งประเทศในที่สุด

AU6 สร้างระบบนิเวศนวัตกรรมหรือแยกตัว (Innovative Ecosystem)

        นวัตกรรรม (Innovation) หมายถึง การได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่ กระบวนการผลิตใหม่ การตลาดหรือรูปแบบองค์กรใหม่ที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงมูลค่าในรูปผลประโยชน์ด้านการเงิน ชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดี และความมีประสิทธิภาพ (European Parliament Research Service, 2016 อ้างถึงใน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2560) ซึ่งการสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นจำเป็นต้องมีระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovative Ecosystem) เป็นระบบที่องค์กรสร้างขึ้นเพื่อรองรับกระบวนการดำเนินงานด้านนวัตกรรมตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงการเชื่อมต่อกับองค์กรภายนอก โดยระบบนิเวศนวัตกรรมจะมีการสร้างเครือข่ายระหว่างองค์กรเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความสามารถ และเปิดโอกาสให้บุคคลในเครือข่ายได้พูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อคิดค้นวิธีแก้ไขปัญหาหรือแลกเปลี่ยนความสำเร็จทางด้านนวัตกรรม ซึ่งการสร้างเครือข่ายนี้จะทำให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรมที่องค์กรเกื้อหนุนกันเพื่อการพัฒนาด้านนวัตกรรม การปรับยุทธศาสตร์ทางการสร้างสรรค์นวัตกรรมซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตและทำให้เกิดแรงผลักดันในการแข่งขันทางด้านนวัตกรรม

       จังหวัดภูเก็ตมีการดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด พ.ศ.2561 – 2565 (ฉบับทบทวน พ.ศ.2563) โดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์ให้จังหวัดเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว การศึกษา นวัตกรรมบริการในระดับมาตรฐานนานาชาติ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบกับเป้าหมายการก้าวสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ทำให้นวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญในการสร้างแนวทางการบริหารจังหวัดด้วยระบบอัจฉริยะต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้ภูเก็ตก้าวสู่เมืองอัจฉริยะจะเป็นสิ่งที่ถูกผลักดันแต่ในด้านการสร้างนิเวศนวัตกรรมเพื่อการสร้างฐานการแลกเปลี่ยนทางนวัตกรรมยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนสูง และทำให้ยากต่อการคาดเดาว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ได้แก่ การขาดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ประกอบกับการมีนายทุนขนาดใหญ่ที่เป็นชนชั้นนำเป็นผู้มีอิทธิพลขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในจังหวัดทำให้สภาพสังคมถูกดำเนินไปในลักษณะของการแยกตัวค่อนข้างสูง ไม่มีการสร้างเครือข่ายระหว่างกัน เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องของธุรกิจและความอยู่รอด ซึ่งอาจตามมาด้วยแนวคิดการเอาชนะคู่แข่งมากกว่าการสร้างเครือข่ายระหว่างกันเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำให้แนวทางในการสร้างนิเวศนวัตกรรมยังมีความไม่แน่นอนสูง

       การสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมภายในจังหวัดภูเก็ตจำเป็นต้องอาศัยการร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งหากเกิดการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมขึ้นจะทำให้เกิดการกระจายความรู้ แนวทางปฏิบัติ ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและช่วยหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคนวัตกรรม อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ หรือแม้แต่การระดมความคิดเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อนำไปปรับใช้ในแต่ละองค์กร