จากอุตสาหกรรมหนักสู่เป้าหมาย Net Zero ในอนาคต

การมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 จะไม่มีทางสำเร็จถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรมหนัก จำเป็นต้องมีการเร่งรัดการดำเนินการเพื่อพัฒนาด้านเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน นโยบาย และการลงทุนเพื่อส่งเสริมกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน ภาคอุตสาหกรรมมีอัตราการใช้พลังงาน 40% ของพลังงานทั่วโลก และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 30% ของปริมาณทั่วโลก โดยมี 5 อุตสาหกรรมหนัก ได้แก่ เหล็ก ซีเมนต์ อลูมิเนียม แอมโมเนีย ตลอดจนน้ำมันและก๊าซ ที่เป็นตัวการสร้างก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 80% จากตัวเลขดังกล่าว และเมื่อพิจารณาถึงการคาดการณ์การใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมที่จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 30-80% ในปี 2050 แล้ว ถ้าหากไม่มีการเร่งรัดมาตรการลดก๊าซเรือนกระจก ก็ยากที่ประชาคมโลกจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้

เพื่อติดตามความคืบหน้าของมาตรการลดก๊าซเรือนกระจก World Economic Forum ได้จัดทำรายงาน Net Zero Industry Tracker เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรม รายงานฉบับนี้มีการสร้างกรอบแนวคิดสำหรับติดตามความคืบหน้าของการผลักดันอุตสาหกรรมไปสู่เป้าหมาย Net Zero และมีการเสนอแนะข้อมูลเชิงลึกให้แก่ผู้นำอุตสาหกรรม ผู้มีอำนาจกำหนดนโยบาย และผู้บริโภค เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ

5 แนวทางในการนำ 5 อุตสาหกรรมสู่ Net Zero

World Economic Forum ได้เสนอแนะข้อแนะนำ 5 ประการสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใน 5 อุตสาหกรรมหนักที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ดังนี้

  1. กำหนดเกณฑ์ ‘การปล่อยก๊าซฯ ในระดับต่ำ’ เพื่อกำกับทิศทางลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

Net Zero เป็นการวางเป้าหมายในระยะยาว ซึ่งในการกำหนดมาตรฐานความยั่งยืนระดับสากลสำหรับวัตถุดิบเช่นน้ำมันหรือก๊าซนั้น จำเป็นต้องมีการกำหนดเกณฑ์ระดับความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซคาร์บอนในทุก ๆ 10 ปี (ปี 2020 – 2050) เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า ‘การปล่อยก๊าซฯ ในระดับต่ำ’ ในเป้าหมาย Net Zero จะอยู่ในระดับไหน มีปริมาณเท่าไหร่ เกณฑ์เหล่านี้ควรจะมีการใช้เทคโนโลยีอย่างเปิดกว้าง (Technology Agnostic) คำนึงถึงลักษณะเฉพาะของผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน และมีการนำมาตรฐานอุตสาหกรรมต่าง ๆ มาใช้ประกอบในการกำหนดนิยามของเกณฑ์ในแต่ละภาคส่วน

  1. ส่งเสริมการลงทุนทวิภาคี ‘ภาครัฐ-ภาคเอกชน’ เพื่อลดต้นทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีสะอาด

การสาธิตเทคโนโลยีการผลิตแบบสะอาดแสดงให้เห็นศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีเทคโนโลยีที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนสำหรับก๊าซธรรมชาติได้ -80% ซีเมนต์และเหล็ก -95% และแอมโมเนีย -100% อย่างไรก็ดีเทคโนโลยีเหล่านี้มีต้นทุนสูงกว่าทางเลือกเดิม ๆ ที่มีอยู่ ด้วยความเร็วของการพัฒนาในปัจจุบัน เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำจะยังไม่เป็นที่แพร่หลายในตลาด จนกว่าจะถึงปี 2025-2030 ซึ่งในอนาคต คาดว่าต้นทุนการผลิตของเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำจะลดลง และทำให้เทคโนโลยีนี้ใช้กันได้อย่างแพร่หลายมากขึ้น แต่เพื่อเร่งรัดให้การพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำเป็นไปได้เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ภาครัฐและภาคเอกชนควรร่วมมือกันเพื่อเร่งรัดการพัฒนาในวงกว้าง

  1. ส่งเสริมความต้องการผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำและสร้างความโปร่งใสและความชัดเจนในหมู่ผู้ผลิต

มีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมจะต้องใช้เม็ดเงินลงทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2050 การลงทุนดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความต้องการของตลาดและผลตอบแทนส่วนเพิ่มสีเขียว (Green Premiums) สำหรับผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ (ผลิตภัณฑ์สีเขียว) ที่เอื้ออำนวยให้ผู้ผลิตและนักลงทุนได้รับผลตอบแทนตามสมควร ซึ่ง ณ ตอนนี้ผู้บริโภคทั่วไปยังไม่มีแรงจูงใจและกำลังทรัพย์มากพอที่จะซื้อสินค้าคาร์บอนต่ำ ดังนั้นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมจำเป็นต้องสร้างความต้องการ (Demand) ของผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำให้เกิดขึ้นในตลาด ซึ่งแนวทางหนึ่งก็คือ การทำสัญญาระหว่างผู้ซื้อภาครัฐและเอกชนจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยรับประกันให้ได้ว่าผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำเหล่านี้จะมีตลาดรองรับแน่นอน และในด้านของผู้บริโภค การสร้างมาตรฐานอย่างเช่นการติดฉลากรับรองคาร์บอน (Carbon Footprint) บนผลิตภัณฑ์ก็เป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคอยากซื้อสินค้าคาร์บอนต่ำมากขึ้น  

  1. ส่งเสริมนโยบายและกฎระเบียบ Net Zero เพื่อสร้างเวทีแข่งขันที่เป็นธรรมสำหรับผู้ผลิตคาร์บอนต่ำ

การรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันในเวทีโลกเป็นวาระสำคัญสำหรับผู้นำอุตสาหกรรมและภาครัฐ ผู้ประกอบการรายแรก ๆ ที่กล้าลงทุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำที่ใช้ต้นทุนสูงกว่าจะต้องแบกรับความเสี่ยงในการขาดทุน แนวนโยบายที่มีเสถียรภาพและมีความทะเยอทะยานเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดเวทีการแข่งขันที่เป็นธรรม และสร้างแรงจูงใจให้บริษัทต่าง ๆ เข้ามาลงทุนในตลาดผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ ซึ่งภาครัฐจะต้องเอื้ออำนวยให้เกิดตลาดที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ กลไกราคาคาร์บอนผนวกกับมาตรการภาษีคาร์บอน (Carbon Border Adjustment Mechanism) เป็นแนวทางที่มีศักยภาพสูงในการช่วยลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนได้ และยังมีมาตรการอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ การทำสัญญาคาร์บอนเครดิต การจัดซื้อจัดจ้างเป็นกรณีพิเศษของภาครัฐ การกำหนดมาตรฐานวัสดุหรือการกำหนดโควตา

  1. พัฒนากลไกกระจายความเสี่ยง กิจกรรมทางเศรษฐกิจสีเขียว และการสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อลดความเสี่ยงและดึงดูดเงินลงทุน

Mark Carney อดีตผู้ว่าฯ ธนาคารกลางอังกฤษ กล่าวในการประชุม WEF: World Economic Forum 2022 ที่เมืองดาวอสว่า“เราต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานในระดับปฏิวัติอุตสาหกรรม และด้วยความเร็วเทียบเท่าการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล ฉะนั้นเราจำเป็นต้องมีการปฏิวัติในด้านการเงิน”

การลดปริมาณคาร์บอนในอุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีการลงทุนอย่างมหาศาล ตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายในการเพิ่มทุนมีมูลค่าเท่ากับ 40% ของการปรับฐานเงินทุน (Recapitalising) ของอุตสาหกรรมเหล็ก เพื่อลดความเสี่ยงของบริษัทและเร่งการไหลเข้าของเงินทุน การมีกลไกทางการเงินและการกระจายความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ มาตรการต่าง ๆ เช่น ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-ภาคเอกชน การลงทุนร่วมในอุตสาหกรรม กิจกรรมทางเศรษฐกิจสีเขียวที่ส่งเสริมความยั่งยืน และการสนับสนุนเงินลงทุนจากภาครัฐในรูปของเงินช่วยเหลือหรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เป็นสิ่งจำเป็นในการดึงดูดเงินลงทุนสำหรับผลิตภัณฑ์ที่กำลังพัฒนา

#FuturistNIDA #ให้คำปรึกษาด้านการมองอนาคต

#อุตสาหกรรม #NetZero #การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ #ลดวิกฤตโลกร้อน

= = = = = = = = = =

แปลและเรียบเรียง: อัลเบอท ปอทเจส

อ้างอิง

WEF. (2022). Five steps to get industries on track for net zero. [Online]