ในปัจจุบันเรามักพบว่าสิ่งที่เราเข้าใจ สิ่งที่เราสามารถอธิบายได้ และสิ่งที่เราสามารถทำนายได้ว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร (ต่อไป) … กลับเปลี่ยนแปลง ต่างไปจากที่เราเคยเข้าใจ และทำให้เราต้องกลับมา ทำความเข้าใจกับสิ่งๆนั้นใหม่อีกครั้ง
ยกตัวอย่างเช่น เราเคยเข้าใจว่า มนุษย์มีพฤติกรรมที่มีเหตุมีผล (Rational) โดยจะเลือกทางเลือก ที่เป็นประโยชน์ที่แท้จริงสูงสุดให้กับตัวเอง แต่เรากลับพบว่ามนุษย์ไม่ได้มีพฤติกรรมดังกล่าวทุกคนในทุกเวลา เช่น การติดการพนันและอบายมุข การมีพฤติกรรมที่ทำลายสุขภาพกายและใจของตัวเองหรือกระทั่งสมาชิกครอบครัว การเลือกผู้นำหรือตัวแทนที่ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด ปรากฎการณ์ดังกล่าวทำให้เราต้องทำความเข้าใจกับพฤติกรรมที่ไม่มีเหตุผล (Irrational) ดังกล่าวใหม่ เป็นต้น
หรือในระดับภาพรวมของระบบ เช่น เราเคยเข้าใจว่าสิ่งต่างๆในสังคมจะดำเนินไปอย่างมีแบบแผนตามกรอบกติกาของระบบ (System Requirement) ที่ได้ถูกกำหนดไว้ เช่น การพิมพ์เงินออกมาใช้ในระบบเศรษฐกิจต้องมีสินทรัพย์มีค่าเป็นหลักประกัน หรือรัฐต้องไม่กู้เงินมาใช้เกินความสามารถในการหารายได้และสร้างภาระหนี้ให้กับคนรุ่นต่อไปในอนาคตมากเกินไป หรือการท้าทายต่อกฎหมาย กฎระเบียบ และกลไกเชิงสถาบันในสังคมและมีอิทธิพลหรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย กฎระเบียบ และกลไกต่างๆของสังคมในบางกรณี เป็นต้น


David J. Snowden ได้อธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าวในเชิงโครงสร้างว่า สังคมประกอบด้วยหน่วยต่างๆ (Agents) และ ระบบ (System) ที่อยู่รอบหน่วยต่างๆเหล่านั้น ในอดีตที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมจะเป็นไปในสองรูปแบบคือ (ก) การเปลี่ยนแปลงที่วุ่นวายอลหม่าน (Chaotic System) ซึ่งเป็นผลมาจากการที่แต่ละหน่วยสามารถทำอะไรก็ได้โดยปราศจากข้อจำกัด (ไม่มีข้อสมมติหรือแบบแผนที่กำหนด) จึงเป็นรูปแบบที่เราแทบไม่สามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้เลย และ (ข) การเปลี่ยนแปลงที่มีแบบแผน (Ordered System) ที่ทุกๆหน่วยต้องอยู่ภายใต้แบบแผนหรือสามารถเปลี่ยนแปลงได้ภายใต้ข้อจำกัด (หรือข้อสมมติหรือหลักเกณฑ์) ที่ถูกกำหนดขึ้นโดยระบบ จึงเป็นรูปแบบที่เราสามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ไม่ยากนัก ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงพยายามอธิบายการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาหลักการวิเคราะห์และหลักบริหารต่างๆให้เป็นไปในรูปแบบที่สองเพื่อตนให้สามารถทำนายหรือควบคุมการเปลี่ยนแปลงได้


อย่างไรก็ดี Snowden เสนอว่ามีการเปลี่ยนแปลงในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งทั้งหน่วยต่างๆและระบบมีการสร้างข้อจำกัด (หรือมีอิทธิพล) ให้แก่กันและกัน โดยในรูปแบบนี้หน่วยต่างๆจะสามารถสร้างข้อจำกัดหรือมีอิทธิพลให้ตัวระบบเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ด้วย จึงเปรียบเสมือนว่า ผู้เล่นที่อยู่ในเกมสามารถมีอิทธิพลที่จะเปลี่ยนแปลงกฎกติกา เงื่อนไข และสภาพแวดล้อมต่างๆของเกมได้ด้วย การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบนี้จึงเป็นรูปแบบที่มนุษย์ไม่สามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้โดยใช้โมเดลการอธิบายต่างๆที่มีหลักเกณฑ์และข้อสมมติกำหนดไว้ได้อีกต่อไป ซึ่ง Snowden เรียกการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่สามนี้ว่า “ระบบที่ซับซ้อน” หรือ Complex System
การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่ซับซ้อนนี้เอง ที่ทำให้เรารู้สึกได้ว่า สิ่งที่เราเคยเข้าใจ และใช้อธิบายสรรพสิ่งที่เกิดขึ้น และใช้เพื่อทำนายการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ กลับกลายเป็นสิ่งที่เราไม่เข้าใจและต้องหันกลับมาสร้างความเข้าใจกับสิ่งนั้นใหม่อีกครั้ง
Snowden ได้สรุปไว้ว่าระบบที่ซับซ้อนมีคุณลักษะดังนี้
1. มีองค์ประกอบ (elements) จำนวนมหาศาลที่มีความเกี่ยวข้องหรือมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน
2. องค์ประกอบเหล่านั้นมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในลักษณะที่ไม่ตรงไปตรงมา(หรือไม่เป็นเส้นตรง) การเปลี่ยนแปลงที่ดูแล้วเป็นสิ่งเล็กๆน้อยๆอาจส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่มหึมาตามมาได้
3. ระบบมีความเป็นพลวัตจากปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างผลกระทบจากองค์ประกอบต่างๆและเกิดขึ้นจากการปรับตัวขององค์ประกอบต่างๆอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ผลที่เกิดขึ้นในภาพรวมมีมากกว่าผลที่เกิดขึ้นของทุกส่วนรวมกัน (หรือ whole is greater than sum) และมักไม่มีทางออกที่สามารถคิดไว้ล่วงหน้าได้ แต่ทางออกมักจะเกิดขึ้นหรือถูกสร้างขึ้น ณ เวลานั้นๆ (Emergence)
4. ตัวระบบเป็นผลสืบเนื่องจากอดีตและผสานเข้ากับสภาพปัจจุบัน จึงทำให้องค์ประกอบต่างๆมีวิวัฒนาการร่วมกับองค์ประกอบอื่นๆและและร่วมกับสภาพแวดล้อมด้วย โดยวิวัฒนาการเหล่านี้ไม่มีการย้อนกลับไปหาจุดเดิม (Irreversible)
5. แม้ว่าการมองย้อนกลับไปหาอดีต จะทำให้เราสามารถทำความเข้าใจหรือตีความได้ว่าทุกสิ่งเป็นไปตามลำดับหรือโครงสร้างความสัมพันธ์ และสามารถนำข้อค้นพบดังกล่าวอธิบายสิ่งต่างๆได้ แต่สิ่งที่ได้จากการมองย้อนอดีต(Hindsight) นั้น ไม่สามาถนำมาใช้เพื่อการคาดการณ์อนาคต (Foresight) ได้ เพราะปัจจัยเงื่อนไขภายนอกและตัวระบบเองมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังมีนักคิดหลายท่านที่มองว่าระบบที่ซับซ้อนของมนุษย์ แตกต่างไปจากระบบซับซ้อนของสิ่งที่มีชีวิตอื่นที่มนุษย์มักนำมาใช้เพื่อพัฒนาโมเดลและแนวทางสำหรับการอยู่ภายใต้ระบบที่ซับซ้อนสำหรับภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้เนื่องจากตัวมนุษย์เองมีความฉลาด และพฤติกรรมที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้
Snowden ได้ขยายความเพิ่มเติมว่ามนุษย์มีความแตกต่างจากสัตว์อื่นๆตรงที่
(1) มนุษย์หนึ่งคนมีหลายบทบาทที่สามารถสลับไปมาได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความคิดที่รอบคอบ เช่น การเป็นสมาชิกของชุมชนพร้อมกับการเป็นสมาชิกขององค์กรก่อการร้าย หรือ การเป็นลูกชายพร้อมกับการเป็นลูกน้อง เป็นต้น
(2) มนุษย์ตัดสินใจโดยอ้างอิงจากแบบแผนที่ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวในอดีตมากกว่าตัดสินใจโดยใช้ตรรกะเหตุผลและหลักเกณฑ์ที่ได้มีการกำหนดไว้ เช่น เคยทำสิ่งใดหรือว่าเห็นใครทำสิ่งใดแล้วประสบความสำเร็จ ก็จะทำสิ่งนั้นซ้ำ โดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปหรือความเป็นไปได้ เป็นต้น
(3) ในบางสถานการณ์ มนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงระบบให้เข้าสู่ตำแหน่งดุลยภาพที่ตนปรารถนา เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ตนสามารถทำนายได้ เช่น การควบคุมปัจจัยภายนอกหรืออิทธิพลของปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อคุณภาพสินค้าและบริการที่ผลิต ให้อยู่ในรูปแบบที่ทำให้ตนสามารถผลิตสินค้าและบริการนั้นได้ตามเป้าหมายคุณภาพที่กำหนด เป็นต้น
ภายใต้โลกที่มีแนวโน้มซับซ้อนมากขึ้น ผู้นำและผู้บริหารต้องมีขีดความสามารถบริหารจัดการและตัดสินใจภายใต้ระบบที่ซับซ้อน จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงวิธีการบริหารจัดการในระบบที่ซับซ้อน ซึ่งทำให้ต้องคิดและทำในรูปแบบที่ต่างจากเดิมในอดีต แม้การคิดและทำดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่ยาก แต่ก็มีความสำคัญสูงมากในโลกปัจจุบันและโลกอนาคตที่มีความซับซ้อนมากขึ้น … เราจะมาเรียนรู้ร่วมกันในบทความต่อไปครับ
.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รักษ์พงศ์ วงศาโรจน์
Future Intelligence and Strategy (FuturISt)
National Institute of Development Administration (NIDA)
ที่มา:
Snowden, David J.; Boone, Mary E. (2007). “A Leader’s Framework for Decision Making”. Harvard Business Review. 85 (11): 68–76