ปรากฏการณ์สมองไหล (Brain drain) คือ การที่แรงงานทักษะสูงหรือบุคคลชั้นมันสมองของประเทศ อพยพเพื่อย้ายไปทำงาน และตั้งรกรากใหม่ที่ประเทศอื่น ที่มีโอกาสในการทำงาน รายได้ และสวัสดิการรองรับ ดีกว่าประเทสต้นทาง (ดวงพร อุไรวรรณ, 2559), (Migration Policy Institute, n.d.)

แนวโน้มในอนาคต
ปรากฏการณ์สมองไหลเกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลกทั้งในภูมิภาคเดียวกันและข้ามภูมิภาค
ประเทศรายได้สูงต่างกำลังช่วงชิงแรงงาน เนื่องจากเทคโนโลยีที่พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้เป็นการยากที่จะคาดการณ์ทักษะและอาชีพแบบใดจะจำเป็นขึ้นมาในอนาคต การผลิตคนในประเทศให้ตรงและทันกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจึงกลายเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก (พงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณและพัชรพร ลีพิพัฒน์ไพบูลย์, 2018)
โดยประเทศกลุ่ม OECD คือประเทศที่แรงงานทักษะสูงถึงสองในสามของแรงงานอพยพทั้งหมดเลือกไปอยู่ ซึ่งหลายประเทศก็มีนโยบายเปิดกว้างรับแรงงานรวมไปถึงนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา เพื่อให้มาศึกษาและอยู่ทำงานต่อ ประเทศกลุ่ม OECD หลายประเทศมีการออกvisaพิเศษให้กับแรงงานทักษะสูง รวมถึงมีทุนการศึกษา ทุนงานวิจัยและก่อตั้ง startup ให้อีกด้วย (Basri & Box, 2008, pp. 9–16)
นอกจากนี้ มีแนวโน้มที่เกิดขึ้นใหม่คือ ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ทำให้เกิดการทำงานรูปแบบใหม่ที่ยืดหยุ่นขึ้นและไม่มีพรมแดน (Das et al., 2020) แม้จะยังไม่มีการย้ายประเทศ แต่แรงงานทักษะสูงที่มีความสามารถเฉพาะทางจำนวนมากก็ถูกดึงตัวไปทำงานให้กับบริษัทต่างชาติที่ไม่ได้มีการตั้งบริษัทในประเทศต้นทางของผู้ทำงาน อาจเรียกได้ว่าเป็นภาวะสมองไหลในรูปแบบใหม่

ผลกระทบต่อประเทศไทย
ประเทศไทยที่เป็นประเทศต้นทางอาจจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานทักษะสูงเฉพาะทาง โดยมีตัวอย่างเช่น ฟิลิปปินส์ที่ประสบปัญหาขาดแคลนพยาบาล ซึ่งส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดช่วง COVID-19 (Chetpayark, 2021)
การขาดแคลนแรงงานทักษะสูงส่งผลให้เศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตได้เท่าที่ควรเพราะขาดแรงงานที่จะมาเป็นมันสมองในการคิด พัฒนานวัตกรรมใหม่และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
รัฐบาลไทยจะ/จะต้องออกนโยบายเพื่อแย่งแรงงานกับประเทศปลายทางอื่น ๆ ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยยังมีอัตราการสมองไหลน้อย แต่ธุรกิจในประเทศก็ยังคงประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะสูงเฉพาะทาง โดยเฉพาะทักษะดิจิทัล แต่ไทยยังไม่มีนโยบายดึงแรงงานทักษะสูงที่ชัดเจน (พงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณและพัชรพร ลีพิพัฒน์ไพบูลย์, 2018) ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานดังที่กล่าวไปข้างต้น
ไทยอาจจะประสบปัญหาสมองไหลอย่างแท้จริงในอนาคต ซึ่งเหล่านี้สะท้อนจากกระแสที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากแสดงออกว่าต้องการย้ายประเทศ เพจ “ย้ายประเทศกันเถอะ” ในเฟสบุ๊คมีคนเข้าร่วมถึงล้านคนภายในเวลาไม่กี่เดือนในปีนี้ (พ.ศ. 2564) และจากจากสถิติตอนนี้ ในปีพ.ศ. 2563 คนไทยที่ทำงานในต่างประเทศมีทั้งหมด 121,922 คน เพิ่มขึ้นถึง 28,997 คนภายในปีเดียว (Agenda Team, 2021)