
สรุปการเสวนา “มาร่วมกันวาด….ภาพอนาคตภูเก็ต”
(วันที่ 20 ต.ค. 64 เวลา 19.30-21.30)
ผู้ร่วมเสวนา ๐ คุณนันทาศิริ รณศิริ ผอ.สนง.ททท. ภูเก็ต ๐ คุณกฤษณัฐฎ์ อุดมภัคพิพัฒน์ General Manager, Laguna Services ๐ ผศ.ดร.ชนานนท์ ภู่เจริญ รองคณบดีคณะการบริการและการท่องเที่ยว ม.สงขลานครินทร์ (ว.ข.ภูเก็ต) ๐ ผศ.ดร.ไพฑูรย์ มนต์พานทอง คณบดีคณะการจัดการการท่องเที่ยว นิด้า ๐ ผศ.ดร.รักษ์พงศ์ วงศาโรจน์ รองอธิการบดี นิด้า
(1) แนวโน้มการเติบโตการท่องเที่ยวของภูเก็ตในช่วงก่อนโควิดสะท้อนภาพการเติบโตในอัตราที่ลดลง (เปลี่ยนจาก growth เป็น stability) ผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายใหญ่เริ่มหันไปลงทุนในพื้นที่อื่นหรือประเทศอื่นมากขึ้น ภูเก็ตในช่วงต่อไปจึงต้องการ new s-curve ที่ตอบโจทย์ทั้งในด้านการเติบโต ความสมดุลของการเติบโต เสถียรภาพของการเติบโต และความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
(2) ภูเก็ตควรมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจในอนาคตที่มีสัดส่วนการพึ่งพิงรายได้จาการท่องเที่ยวลดลง (ปัจจุบันประมาณร้อยละ 85) และเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการภาคบริการคุณภาพสูงอื่นๆมากขึ้น โดยสาขาที่เป็นเป้าหมายยุทธศาสตร์ในอนาคตของภูเก็ตคือ GEMMSS (Gastronomy, Education, Medical & Wellness, Marina, Sport, Smart City)
(3) ในอนาคตภูเก็ตจะมีโครงสร้างการการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป สัดส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่มภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน (ร้อยละ 20 ของนทท.ทั้งหมด) จากแนวโน้มการทั้งด้านอุปสงค์ (คนไทยชอบมาเที่ยว มาทำงานและพำนักที่ภูเก็ต) และด้านอุปทาน (ผู้ประกอบการและพนักงานให้ความสำคัญและใส่ใจในการให้บริการลูกค้าชาวไทยมากขึ้น) โดยในภาพรวมจำนวนนักท่องเที่ยวจะยังไม่มากเหมือนในช่วงก่อนโควิดแต่จะเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นจากเดิม
(4) ทิศทางการพัฒนาของภูเก็ตที่อยากให้เป็นคือ (ก) มีการกระจายรายได้ภายในเกาะที่ดีขึ้น (ข) มีความสมดุลของการพัฒนาและความเจริญระหว่างฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกเพิ่มขึ้น (ค) มีสาธารณูปโภคที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดให้ทันกับความต้องการทั้งในด้านประปา ถนน การคมนาคมทางราง และสาธารณูโภคดิจิทัล (ง) มีการพัฒนาแบบที่ไม่ทำลายเงินต้นหรือบุญเก่า เก็บแต่ดอกผลไปใช้และเติมเงินต้นบ้าง (จ) มีนโยบาย งบประมาณ และการบริหารจากภาครัฐที่ตอบสนองต่อการพัฒนาของพื้นที่พิเศษนี้มากขึ้นและต่อเนื่อง (ฉ) มีภูมิคุ้มกันต่อความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงฉับพลันจากภายนอกมากขึ้น (ช) เป็น High Quality Destination (ซ) คนภูเก็ตและธุรกิจในภูเก็ตมีความเป็นเจ้าบ้านที่ดี (ฉ) ธุรกิจของภูเก็ตมีความสามารถสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจเพื่อเพิ่มคุณค่าและรองรับความต้องการและสภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนเร็ว
(5) การศึกษาเป็นสาขาเศรษฐกิจที่มีศักยภาพตอบโจทย์ทั้งในด้านการเติบโตของความต้องการตลาดต่างประเทศ และมีภูมิคุ้มกันที่สูงเพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมายังมีนักศึกษาต่างชาติเพิ่มขึ้นและมีจำนวนผู้ปกครองที่เดินทางมาเยี่ยมบุตรหลานอย่างต่อเนื่อง และในปัจจุบันภูเก็ตมีโรงเรียนนานาชาติกว่า 14 แห่ง
(6) ชาวไทยและชาวต่างชาติมีความต้องการบ้านหลังที่สองที่ภูเก็ตมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่เริ่มเห็นแนวโน้มการเข้ามาซื้อบ้านพักในภูเก็ต การเข้ามาพำนักในภูเก็ตและทำงานแบบ workation โดยเฉพาะกลุ่มดิจิทัลนอร์แมด ดังนั้นโจทย์สำคัญคือการพัฒนาภูเก็ตให้เป็นเมืองน่าอยู่ สะอาด ปลอดภัย และทันสมัย โดยเฉพาะในด้านสาธารณูปโภคเพื่อรองรับตลาดที่มีศักยภาพทั้งในด้านกำลังซื้อและกำลังความคิด (Talent) ของคนกลุ่มนี้
(7) การส่งเสริมการพัฒนาในอนาคตตามกรอบ GEMMSS มีหลายส่วนที่บูรณาการกับสาขาเศรษฐกิจอื่นๆได้ เพื่อให้เกิดผลเชื่อมโยงในโซ่คุณค่าต่างๆ เช่น ธุรกิจการดูแลสุขภาพ (Wellness) สามารถเชื่อมโยงไปกับการส่งเสริมผลิตภัณฑ์และการเกษตรแบบออแกนิค การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์เสริมความงามและอาหารสุขภาพ เป็นต้น
(8) ภูเก็ตสามารถสร้างความสมดุลของการพัฒนาและความเจริญทางฝั่งตะวันออกให้เพิ่มขึ้นด้วยการส่งเสริมให้สาขาเศรษฐกิจเป้าหมายใหม่ (สาขาธุรกิจใน GEMMSS) ไปตั้งในพื้นที่โซนตะวันออก
(9) ภูเก็ตยังสามารถสร้างคุณค่า ต่อยอด หรือขยายผลจากจุดแข็งด้านความเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารได้อีกมากในอนาคต เพราะนอกจากความหลากหลายของอาหารในพื้นที่แล้ว ภูเก็ตยังมีร้านอาหารที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศและระดับโลกในหลายประเภท เช่น ข้าวต้ม ติ่มซำ บักกุ๊ดเต๋ อาหารจีนฮกเกี้ยน อาหารใต้ อาหารทะเล ขนมต่างๆ เป็นต้น
(10) การท่องเที่ยวเชิงธุรกิจยังคงเป็นสาขาที่ภูเก็ตยังคงมีศักยภาพสูงในอนาคต เห็นได้จากการเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ในช่วงโควิด และการมีกิจกรรมเจรจาทางธุรกิจในภูมิภาคทันทีที่เปิดเกาะตามนโยบายภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ นโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนการอำนวยความสะดวกที่ชัดเจนจากภาครัฐเป็นปัจจัยสนันสนุนที่สำคัญมาก