สัจจธรรมขององค์กรในอนาคต

Change is inevitable แปลตรงตัวหมายความว่า “การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” นี้เป็นประโยคที่เรามักจะได้ยินติดหูกันมานาน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในช่วงปี คศ. 2018 – 2019 – 2020 เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ การเปลี่ยนแปลงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นั้นเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น การเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนทางสังคม การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม หรือการเปลี่ยนแปลงเชิงดิจิทัล ซึ่งการศึกษาเกี่ยวกับอนาคต หรือ อนาคตศาสตร์ เป็นการศึกษาและทำนายสิ่งที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตโดยจากการรวบรวมข้อมูลและศึกษาแนวโน้มจากสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหรือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยในยุคปัจจุบันเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าโลกกำลังที่จะเปลี่ยนทิศทางไปสู่โลกดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงของการจัดการองค์กรให้ไปสู่การจัดการองค์แบบดิจิทัลอย่างแท้จริง

เป็นที่น่าสนใจว่าในปัจจุบันการบริหารองค์กรที่จะนำไปสู่ความสำเร็จนั้นล้วนแต่จะมุ้งเน้นไปที่ความสามารถในการประสานงานกันผ่านโครงข่าย การให้อำนาจและความสำคัญกับเครือข่าย การบริหารจัดการข้อมูล หรือการโยกย้ายหรือเคลื่อนที่ของทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จนี้เองทำให้รูปแบบขององค์กรในอนาคตนั้นจะต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับรูปแบบต่าง ๆ ที่นำสู่ความสำเร็จของการบริหารจัดการองค์กร

จากการศึกษาในปี 2017 ของบริษัท Deloitte บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลกพบว่า ร้อยละ 88 ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความเห็นว่าการปรับหรือการสร้างองค์กรสำหรับอนาคตนั้นมีความสำคัญมากถึงมากที่สุด และร้อยละ 59 มีความเห็นว่าการปรับหรือการสร้างองค์กรสำหรับอนาคตนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แต่อย่างไรก็ดี มีเพียงร้อยละ 11 ของผู้ตอบแบบสอบถามนั้นมีความเข้าใจในการปรับหรือการสร้างองค์กรในอนาคต ซึ่งในส่วนนี้จะเห็นได้ว่าการปรับตัวขององค์กรไปสู่องค์กรในอนาคตนั้นอาจจะยังมีอุปสรรคอยู่หลายประการ

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสำเร็จของการปรับหรือการสร้างองค์กรในอนาคตนั้นสามารถสรุปได้เป็น 3 ปัจจัย ได้แก่ ความเร็ว (speed) ความคล่องตัว (agility) และ ความสามารถในการปรับตัว (adaptability) ทั้งสามปัจจัยนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อทุก ๆ องค์กรที่จะนำไปสู่ประสิทธิภาพขององค์กรในอนาคต โดยในอดีตหลายองค์กรหรือหน่วยงานมักจะมุ่งเน้นเกี่ยวกับประสิทธิภาพและประสิทธิผล แต่ในปัจจุบันนั้นรูปแบบของการแข่งขันได้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การแข่งขันที่จะต้องใช้ความเร็วของการเปลี่ยนแปลงเป็นหลัก ความสามารถที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว การปรับเปลี่ยนโครงสร้างขององค์กรเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หรือ การสภาวะแวดล้อมของการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป

ดังนั้น ประเด็นที่สำคัญคือการปรับหรือการสร้างองค์กรจากโครงสร้างแบบเดิม ๆ ไปสู่องค์กรในอนาคตผ่านเครือข่ายของทีม การบทวิเคราะห์ของบริษัท Deloitte ได้ทำการเปรียบเทียบรูปแบบขององค์กรในอดีตและรูปแบบขององค์ในอนาคตโดยให้ความสำคัญต่อเครือข่ายของทีม (รูปแบบองค์กรในอดีตและปัจจุบัน ตามรูปที่ 1 และ รูปที่ 2)

รูปที่ 3 แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบขององค์กรจากรูปแบบในอดีตไปสู่รูปแบบในอนาคต โดยจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าระบบเครือข่ายในการติดต่อประสานงานระหว่างคนทั้งในและนอกองค์กรนั้นจะมีความสำคัญมาก ๆ ขึ้นไปในอนาคต นอกจากนี้ ความสำคัญของปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการคนหรือองค์กรก็ยังคงมีความสำคัญต่อไปในอนาคต เช่น วัฒนธรรมองค์กร (organization culture) ค่านิยมร่วม (shared values) หรือ ความโปร่งใสขององค์กร (transparency) เป็นต้น

ดังนั้น การสร้างองค์กรในอนาคตจะประสบความสำเร็จนั้นจะต้องให้ความสำคัญแก่ปัจจัยที่เป็นการเสริมสร้างรูปแบบของการทำงานเป็นทีม (team working) ซึ่งการทำงานเป็นทีมนั้นอาจจะฟังดูแล้วเป็นเรื่องง่ายและหลายต่อหลายองค์กรก็พูดถึงเกี่ยวกับการทำงานเป็นทีมนี้มาตั้งแต่ในอดีต แต่อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงแล้วการทำงานเป็นทีมนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องการความใส่ใจและดูแลเป็นอย่างยิ่งหรือที่ภาษาฝรั่งเค้าเรียกกันว่า Tender Loving Care (TLC) โดยการทำงานเป็นทีมนั้นต้องการทักษะต่าง ๆ ในหลาย ๆ รูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น

การเปิดกว้างที่จะยอมรับ (openness) ซึ่งผู้ที่ทำงานหรือประสานกันเป็นทีมจะต้องมีทักษะของการที่จะเปิดรับหรือนำเอาความคิดของเราไป share กับผู้อื่น สิ่งที่สำคัญเกี่ยวกับการเปิดกว้างที่จะยอมรับคือการยอมรับถึงความแตกต่าง หรือความคิดที่แตกต่างกับความคิดของเราเอง นี่คือหัวใจหลักของการเปิดกว้างที่จะยอมรับ และจะทำให้เราสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี

ความไว้เนื้อเชื่อใจและความเคารพผู้อื่น (trust and respect of others) เป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการเปิดกว้างที่จะยอมรับ (openness) ในการทำงานเป็นทีมนั้น คนที่ทำงานจะต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจและความเคารพผู้อื่น ซึ่งหากมีความไว้เนื้อเชื่อใจและความเคารพผู้อื่นเพียงพอก็จะทำให้เราสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นต่าง ๆ อีกทั้งยังทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีระหว่างที่ทำงานและคนทำงาน และทำให้ความเครียดจากการทำงานลดลงอีกด้วย

ต่อมาคือทักษะของการสื่อสาร (communication) ที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการติดต่อสื่อสารและประสานงานของทีม ซึ่งในปัจจุบันทักษะการสื่อสารนั้นจัดให้เป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 โดยความสามารถในการสื่อสารนั้นครอบคลุมถึงทักษะของการฟัง พูด อ่าน และเขียน และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำงาน ซึ่งในยุคปัจจุบันและการใช้เทคโนโลยีที่เข้ามาทำให้ทักษะของการเขียนนั้นเข้ามามีบทบาทและมีความสำคัญมากขึ้น ดังนั้น เส้นแบ่งระหว่างการใช้เทคโนโลยีและทักษะการสื่อสารปัจจุบันลดน้อยลงอย่างชัดเจนทำให้ทักษะของการสื่อสารนั้นจำเป็นต้องพูดครอบคลุมรวมไปถึงทักษะของการใช้เทคโนโลยีไปด้วยโดยปริยาย

ปัจจัยต่อมาที่จะมาเสริมสร้างรูปแบบของการทำงานเป็นทีมคือปัจจัยของผู้นำ (leadership) การทำงานเป็นทีมในองค์กรในอนาคตนั้นจำเป็นจะต้องมีผู้นำที่เข้าใจทั้งในเนื้อหาของงาน ตลอดจนบริบทของการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต ผู้นำที่ดีสำหรับองค์กรในอนาคตนั้น จะต้องไม่เพียงแค่มีความสามารถในทุก ๆ ทักษะที่กล่าวมาข้างต้น ที่ครอบคลุมไปถึง การเปิดกว้างที่จะยอมรับ (openness) ความไว้เนื้อเชื่อใจและความเคารพผู้อื่น (trust and respect of others) และ การสื่อสาร (communication) แต่ยังจะต้องมีความพร้อมที่จะทำหน้าที่เป็น coach ให้กับผู้อื่นในองค์กรด้วย ดังนั้น ผู้นำจึงมีบทบาทที่สำคัญในการเชื่อมโยงการทำงานแบบทีมให้ประสบความสำเร็จสำหรับองค์กรในอนาคต

มาถึงตรงนี้แล้ว หลาย ๆ คนคงเริ่มสงสัยแล้วสิว่าเราควรจะต้องเตรียมตัวอย่างไรในปัจจุบันเพื่อทำให้ตัวเองพร้อมที่จะรองรับรูปแบบขององค์กรในอนาคต ซึ่งการเตรียมความพร้อมตอนนี้ยังไม่สายเกินไปและเราสามารถเตรียมตัวได้ ดังนี้

  • เตรียมใจที่จะเปิดรับสิ่งใหม่ที่จะเข้ามา การเตรียมจิตใจนั้นสำคัญมาก ซึ่งไม่เพียงแค่ทำให้เรานั้นมีความพร้อมด้านจิตใจ แต่จะทำให้เรามีพลังในความทดทนอดกลั้นเพื่อผ่านอุปสรรคต่าง ๆ และนำพาไปสู่ความสำเร็จได้ในอนาคต
  • หมั่นฝึกฝนการทำงานในรูปแบบของทีม เตรียมตัวเปิดกว้างที่จะแสดงความคิดเห็นของเราให้กับผู้อื่น และที่สำคัญคือการเปิดในที่จะยอมรับคำวิจารณ์จากผู้อื่นด้วย
  • เข้าใจในบริบทของการใช้เทคโนโลยี และความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี สิ่งที่สำคัญคือจะต้องเข้าใจว่าเทคโนโลยีนั้นจะเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงหรือเป็น tool ในการปฏิบัติงาน ซึ่งเราเองจะต้องเป็นคนที่สามารถควบคุมเทคโนโลยีและจะต้องไม่ให้เทคโนโลยีเป็นข้อจำกัดที่มาควบคุมการทำงานของเรา
  • เรียนรู้ที่จะต้องปรับปรุงตัวเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ ดั่งเช่นแนวคิดของการจัดการ Kaizen ที่เน้นการบริหารการจัดการการอย่างมีประสิทธิผล โดยมีหัวใจหลักเกี่ยวกับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด หรือ continuous improvement

หลักสูตรการศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเตรียมความพร้อมไปสู่การทำงานในองค์กรในอนาคต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์เองก็เป็นอีกหน่วยงานที่จะสามารถส่งเสริมการฝึกฝนและเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้เราเตรียมความพร้อมสำหรับองค์กรในอนาคตได้ โดยหลักสูตรภาวะผู้นำ การจัดการและนวัตกรรม หรือ หลักสูตรพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ โดยคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน โดยคณะรัฐประศาสนศาสตร์ หลักสูตร Master of management โดยวิทยาลัยนานาชาติ หรือหลักสูตรระยะสั้นต่าง ๆ ของสำนักสิริพัฒนา เช่น หลักสูตรกลยุทธ์การพัฒนาความคิดเชิงระบบและความคิดสร้างสรรค์สำหรับองค์กรสมัยใหม่ การบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change & Transformation Management) การจัดทำแผนภาพอนาคตเพื่อการวางแผนกลยุทธ์องค์กร หรือ การพลิกโฉมนักวิเคราะห์นโยบายและแผนเพื่อองค์กรสมัยใหม่ ก็ล้วนแต่เป็นหลักสูตรที่เสริมสร้างสมรรถนะในการเตรียมความพร้อมสำหรับองค์กรในอนาคต สุดท้ายนี้ผู้เขียนบทความหวังว่าบทความนี้จะทำให้ความน่ากลัวของสัจจธรรมที่ว่า change is evitable น่ากลัวน้อยลงและทำให้ท่านมีความพร้อมที่จะเผชิญองค์กรในอนาคตดั่งเช่นคำที่ว่า change is predictable หรือ การเปลี่ยนแปลงเป็นอะไรที่สามารถคาดเดาได้

อ้างอิง ;
Bersin., J, McDowell, T, Rahnema, A., & Van Durme, Y (2017) The organization of the future: Arriving now 2017 Global Human Capital Trends
https://www2.deloitte.com/…/organization-of-the-future…

บทความโดย
ผศ.ดร.สิทธิ์ สุนทรายุทธ
รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยนานาชาติ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)