กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) และการขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) เป็นความท้าทายสำคัญที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ Department of Economic and Social Affairs, United Nation (DESA UN, 2018) ได้ประเมินว่าประชากรร้อยละ 55 ของโลกอาศัยอยู่ในเขตเมืองและจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 68 ในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งอาจจะมีจำนวนถึง 2.5 พันล้านคน ซึ่งร้อยละ 90 ของการเพิ่มขึ้นดังกล่าวจะอยู่ในทวีปเอเชียและอาฟริกาเป็นหลัก การเจริญเติบโตดังกล่าวทำให้เมืองส่วนใหญ่เผชิญกับปัญหานานับประการ ในตอนนี้ ผมขอยกตัวอย่างปัญหาและแนวทางการบริหารจัดการเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของเมืองในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการพัฒนาพื้นที่และระบบขนส่งของเมืองก่อนนะครับ หากมีโอกาสค่อยนำเสนอในประเด็นอื่นๆ ต่อในอนาคตครับ
แนวโน้มการพัฒนาพื้นที่ของเมืองในอนาคต (Future City’s Area Development)
ปัญหาความแออัดของการอยู่อาศัยเนื่องจากพื้นที่อยู่อาศัยของเมืองที่มีจำกัด ที่อยู่อาศัยเติบโตแนวสูง มากกว่าแนวราบก่อให้เกิดเมืองหรือย่านขนาดเล็กๆ บางครั้งเรียกว่าเมืองกระทัดรัด (Compact City) ที่มีการผสมผสานการใช้ประโยชน์ที่ดินและอาคารให้สามารถใช้ได้หลายวัตถุประสงค์หรือมิกซ์ยูส (Mixed Use) ตอบสนองความต้องการของประชาชนที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร (แนวคิดตามรูปที่ 1) โดยมีองค์ประกอบทั้งอาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย ห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะบนดาดฟ้า กระจายตัวเป็นลักษณะกลุ่ม หรือ Cluster เชื่อมโยงระหว่างกลุ่มด้วยการขนส่งที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ (Non Motorized Transportation) เช่น ทางเดินเท้า ทางจักรยาน ยานยนต์ไฟฟ้าแบบไร้คนขับ (Driverless EV) เป็นต้น

การพัฒนาแบบมิกซ์ยูสนี้หากเป็นพื้นที่แนวราบก็จะเรียกว่าการพัฒนา “ย่าน” (District) ที่ใช้แนวคิดเดียวกันเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ต่างๆ เข้าด้วยกันทำให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัย ทำงานและใช้ชีวิตเบ็ดเสร็จจบในพื้นที่ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางเข้าเมืองเพื่อไปทำงานจากที่อยู่อาศัยที่อยู่ชานเมืองเช่นทุกวันนี้
อย่างไรก็ตามการพัฒนาเมืองแบบนี้จำเป็นต้องมีการวางแผนในหลายๆเรื่อง เช่น ระบบไฟฟ้าและน้ำใช้ น้ำเสียน้ำทิ้ง ระบบป้องกันภัยพิบัติ ระบบการจัดการขยะและสุขาภิบาล ระบบการป้องการการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ (เช่น โควิด-19) ของประชาชนที่อาศัยแนวสูง ที่จะมีความยุ่งยากซับซ้อนกว่าการจัดการพื้นที่แนวราบมาก รวมไปถึงการเชื่อมโยงพื้นที่กับระบบขนส่งสาธารณะในเมืองเช่น การเชื่อมโยงกับระบบรถไฟใต้ดิน ระบบรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาแบบรอบสถานี หรือ Transit Oriented Development (TOD) ไปพร้อมกัน

รูปที่ 2 แสดงพื้นที่แบบมิกซ์ยูสของมหานครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนที่ได้พัฒนา Mapletree Business City และ VivoCity Shanghai บนพื้นที่ประมาณ 297,000 ตารางเมตรซึ่งได้รับรางวัลการออกแบบพื้นที่มิกซ์ยูสที่ดีที่สุดในโลกซึ่งได้ออกแบบพื้นที่ที่ผสมผสานทั้งอาคารสำนักงาน สะพานเชื่อมตึกลอยฟ้า พื้นที่สวนสีเขียวบนดาดฟ้า พื้นที่พักอาศัย ห้างสรรพสินค้าอีกทั้งยังเชื่อมโยงกับทางด่วนและรถไฟใต้ดินถึง 2 สายทำให้พื้นที่ดังกล่าว ถือเป็นการจัดการวางแผนการพัฒนาพื้นที่เมือง รองรับการเติบโตในอนาคตได้เป็นอย่างดี
การคมนาคมขนส่งสำหรับเมืองในอนาคต (Future City Mobility)
การพัฒนาด้านการคมนาคมขนส่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเมือง สำหรับเมืองในอนาคตนั้นการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะให้เป็นเส้นเลือดหลักของเมืองมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นในเมืองใหญ่ๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะใช้เส้นทางขนส่งมวลชนสาธารณะเป็นเส้นทางที่กำหนดทิศทางว่าเมืองควรจะเติบโตไปในทิศทางใด
สำหรับเมืองไทยนั้น การพัฒนาเมืองขนาดใหญ่ในอดีตมุ่งเน้นการสร้างถนนหรือทางด่วนที่รองรับการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลเป็นหลัก รูปที่ 3 สะท้อนให้เห็นว่าเมืองขนาดใหญ่เริ่มมีการพัฒนาจากระบบที่ไม่ใช้เครื่องยนต์และแยกออกเป็นสายที่มุ่งพัฒนาระบบขนส่งมวลชน (Transit Cities) และสายที่พัฒนาถนนให้เป็นเมืองแห่งรถ (Car Cities) การพัฒนาที่อยู่อาศัยก็มีการพัฒนาไปตามชานเมืองในทุกทิศทางเนื่องจากที่ดินที่ยังมีราคาถูกและเมื่อมีถนนตัดผ่านก็ทำให้ประชาชนนิยมใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเพื่อเดินทางเข้ามายังศูนย์กลางเมืองเพื่อมาทำงาน จนทำให้เกิดสภาพความติดขัดของการจราจรอย่างที่เห็นในทุกวันนี้

การพัฒนาเมืองในอนาคตมุ่งเน้นการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่เพื่อสามารถรองรับปริมาณการเดินทางเข้าออกเมืองให้ได้มากขึ้น การก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าทั้ง 10 เส้นทางในกรุงเทพมหานครถือเป็นความพยายามในการใช้ระบบขนส่งมวลชนเพื่อกำหนดทิศทางของเมือง และเมื่อก่อสร้างสำเร็จครบก็คาดว่าจะทำให้การใช้รถยนต์ส่วนบุคคลลดลง นอกจากนั้น การพัฒนารถไฟฟ้าก็จะทำควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี (TOD) เพื่อให้การใช้พื้นที่รอบสถานีมีความผสมผสานและมีประสิทธิภาพสูงสุด
การพัฒนารอบสถานีหรือ TOD ตามหลักการของ Asia Development Bank (ADB) เน้น 1) Connect คือการเชื่อมโยงพื้นที่เข้ากับระบบขนส่งมวลชนหลักด้วยทางเดินเท้า ทางจักรยาน หรือระบบ Feeder ที่มีความสะดวกสบายและปลอดภัยทำให้คนอยากเข้ามาใช้บริการระบบขนส่งมวลชนหลักมากขึ้น 2) Mix คือ การผสมผสานรูปแบบการใช้ที่ดิน หรือ มิกซ์ยูส ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว 3) Densify คือ การทำให้หนาแน่นโดยการวางแผนก่อสร้างหรือจัดสรรการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งมวลชนหลักได้ภายในระยะไม่เกิน 400 เมตร หรือ ภายใน 5 นาที 4) Compact คือกระชับและกระทัดรัด โดยสนับสนุนให้ ที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน ห้างสรรพสินค้า และสถานที่พักผ่อนอยู่ใกล้กันสามารถเดินทางไปใช้งานได้ง่ายและรวดเร็ว

รูปที่ 4 แสดงให้เห็นถึงระบบขนส่งมวลชนในเมือง Brisbane ประเทศออสเตรเลีย ที่เชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนกับห้างสรรพสินค้าและเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลซึ่งทำให้การเดินทางของประชาชนในเมืองทำได้ด้วยความสะดวกรวดเร็วและทำให้ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้นการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งในอนาคตก็มีการนำเทคโนโลยีดิจิตัลเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการมากขึ้น เราเรียกระบบดังกล่าวว่าระบบขนส่งอัจฉริยะ (Intelligent Transportation System: ITS) ตัวอย่างเช่น การบริหารจัดการสัญญาณไฟจราจรแบบอัตโนมัติ ระบบ GPS นำทาง ระบบกล้องอิมเมจโพรเซสซิ่งในการตรวจจับความเร็วหรือผู้ฝ่าฝืนกฏระเบียบเป็นต้น
การวางแผนและพัฒนาเมืองและระบบคมนาคมขนส่งของเมืองถือเป็นกุญแจดอกสำคัญในการกำหนดทิศทางของเมืองในอนาคตเพราะผลของการพัฒนาดังกล่าวก็จะกระทบต่อประเด็นในการพัฒนาเมืองในมิติอื่นๆ อาทิ มิติด้านสิ่งแวดล้อม มิติการใช้พลังงาน มิติเชิงสังคมและชุมชน ซึ่งในจำเป็นที่จะต้องนำเทคโนโลยีดิจิตัลที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการจัดการพัฒนาเมืองมากขึ้น ผมขอยกยอดไว้อธิบายเรื่องเหล่านั้นในตอนต่อไปนะครับ
บทความโดย
ผศ.ดร.สราวุธ จันทร์สุวรรณ
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)