อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง หมายถึง การที่สิ่งต่าง ๆ ถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันในโลกของอินเทอร์เน็ต ทำให้มนุษย์สามารถสั่งการและควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ ผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ เช่น การสั่งเปิด-ปิด อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องมือทางการเกษตร เครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม บ้านเรือน รวมไปถึงเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

แนวโน้มในอนาคต
เทคโนโลยี IoT จะเข้ามาช่วยเรื่องการแพทย์ได้มากขึ้น แพทย์สามารถติดตามอาการทราบข้อมูลและพฤติกรรมคนไข้อย่างละเอียดผ่านอุปกรณ์สวมใส่ที่จะคอยวิเคราะห์และประมวลผลร่างกายผู้ป่วย อาจมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ชิ้นใหม่ ๆ มากมายที่สามารถตรวจหาโรคและอาการได้อัตโนมัติ รวมถึงค้นหาสาเหตุและทางรักษาได้ด้วย (LEE, 2020)
ในด้านการเกษตร เทคโนโลยี IoT สามารถใช้วัดประเมินเก็บข้อมูลผลผลิตและคาดการณ์ล่วงหน้าได้ รวมทั้งยังสามารถทำงานร่วมกับอุปกรณ์เก็บเกี่ยวได้อีกด้วย (Ravindra, 2020)
เทคโนโลยี IoT สร้างสภาพแวดล้อมที่ชาญฉลาดด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปรับวิถีชีวิตให้เหมาะสม คาดว่าจะมีการเปิดตัวอุปกรณ์ IoT มากกว่า 41 พันล้านเครื่องภายในปี 2568 (International Data Corporation) สิ่งนี้จะนำไปสู่การเติบโตแบบทวีคูณของข้อมูลและผลักดันการดำเนินการด้านการประมวลผลและการวิเคราะห์ข้อมูล (Shaping Europe’s digital future, 2021)การขาดแคลนแร่ธาตุที่ใช้ผลิตเซนเซอร์อาจส่งผลให้มีการใช้งานอย่างจำกัดและไม่เท่าเทียม

ผลกระทบต่อประเทศไทย
การศึกษาแบบดั้งเดิมจะเปลี่ยนไป ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ตามความต้องการทุกที่ทุกเวลา ยิ่งไปกว่านั้น IoT ควบคู่กับ Big data ช่วยให้องค์กรและสถาบันต่าง ๆ ประเมินความสำเร็จของโปรแกรมการศึกษา และการฝึกอบรม รวมถึงการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้เฉพาะเจาะจง เพื่อช่วยให้นักศึกษาบรรลุเป้าหมายในการศึกษา (วิวัฒน์ มีสุวรรณ, 2559)
ประเทศไทยมีการนำ IoT มาประยุกต์ใช้งานภายในองค์กรที่ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ หนึ่งในอุปสรรคสำคัญคือประเด็นด้านความเข้ากันไม่ได้ของเทคโนโลยีใหม่กับระบบที่มีอยู่เดิม ผู้ประกอบการจำเป็นต้องลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาระบบเดิมที่มีอยู่ให้สามารถรองรับและทำงานร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ได้ นำมาซึ่งภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งอาจเกิดการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร (depa, 2564)