เทคโนโลยีอวกาศหมายถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของมนุษย์นอกชั้นบรรยากาศของโลกหรือตั้งแต่ระดับความสูง 100 กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเลปกติออกไป โดยประกอบด้วยเทคโนโลยีย่อยหลากหลายประเภท ตัวอย่างเช่น ดาวเทียม การเดินทางระหว่างจุดหมายภายในโลกผ่านอวกาศ การเดินทางระหว่างดวงดาว การใช้ชีวิตในอวกาศ การสำรวจอวกาศ การท่องเที่ยวอวกาศ และการศึกษาวิจัยในอวกาศ เป็นต้น

แนวโน้มในอนาคต
เทคโนโลยีอวกาศมีแนวโน้มที่จะได้รับการพัฒนาให้ก้าวข้ามขีดจำกัดในปัจจุบัน เช่น เพิ่มประสิทธิภาพและนำระบบการปล่อยและขับ-เคลื่อนยานมาใช้ซ้ำ พัฒนาเครื่องมือป้องกันผลกระทบของสิ่งแวดล้อมอวกาศต่อมนุษย์ในอวกาศ ตลอดจนลดขนาด เพิ่มคุณภาพ และลดต้นทุนของยาน/อุปกรณ์ต่าง ๆ (Aglietti, 2020)
ดาวเทียมวงโคจรต่ำจะสามารถให้ข้อมูลและบริการการสื่อสารที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น กลุ่มดาว-เทียมดังกล่าวจำนวนมากจะถูกนำมาใช้มากขึ้น
วงโคจรต่ำน่าจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจมากขึ้น สถานีอวกาศของสาธารณรัฐประชาชนจีนและเอกชนน่าจะเริ่มให้บริการได้ภายใน ค.ศ.2030 (Mafi, 2021)
สหรัฐอเมริกาตั้งเป้าหมายที่จะส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์อีกครั้งและจัดตั้งสถานีถาวรบนพื้นผิวดวงจันทร์ภายใน ค.ศ.2024 (Dunbar, n.d.) หลังจากนั้น การส่งมนุษย์ไปยังพื้นผิวดาวอังคารและดาวเคราะห์น้อยน่าจะประสบความ-สำเร็จภายใน ค.ศ.2030 (Whitesides, 2017)
รัฐอื่นนอกเหนือจากมหาอำนาจตะวันตกจะเข้ามามีบทบาทในอวกาศมากขึ้น ขณะที่ภาคเอกชนจะกลายมาเป็นตัวแสดงหลักในการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศยิ่งขึ้น (Ibid.)
มูลค่าของอุตสาหกรรมอวกาศโลกถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้นจาก 350 พันล้านเหรียญสหรัฐใน ค.ศ.2016 เป็นหนึ่งล้านล้านเหรียญสหรัฐภายใน ค.ศ.2040 (Morgan Stanley, 2021)

ผลกระทบต่อประเทศไทย
กระตุ้นการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีอวกาศ เช่น วัสดุ คอมพิวเตอร์ การสื่อสาร หุ่นยนต์ และการแพทย์ เป็นต้น
เอื้อให้นักวิจัยมีข้อมูลเกี่ยวกับโลกและอวกาศ รวมถึงสามารถทำการทดลองในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงได้มากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ใหม่
เสริมสร้างขีดความสามารถของธุรกิจที่อาศัยดาวเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสาร
เอื้อให้สามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรใหม่ในอวกาศ เช่น พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากแผงสุริยะในอวกาศ และแร่ธาตุที่ได้จากการทำเหมืองในดาวเคราะห์น้อย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการผลิตอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยทรัพยากรเหล่านี้
เปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจวงโคจรต่ำ เช่น การบริการภายในสถานีอวกาศ
ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการใช้พลังงานมหาศาลปล่อยยานอวกาศ มลพิษทางอากาศและเสียง และแรงสั่นสะเทือนในพื้นที่ใกล้สถานี
เปิดโอกาสให้รัฐสามารถขยายความร่วมมือผ่านความจำเป็นในการพัฒนาระบอบโลกาภิบาลด้านอวกาศเพื่อจัดการปัญหาข้ามชาติ เช่น ขยะอวกาศและการจัดสรรย่านความถี่ ร่วมกัน