ESG สำคัญต่ออนาคตของธุรกิจอย่างไร

ในอดีตที่ผ่านมาจวบจนถึงปัจจุบัน ผู้คนส่วนใหญ่ มักมีภาพจำและเข้าใจว่า ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การใส่ใจให้ความสำคัญกับการตอบสนองต่อปัญหา ที่คนสังคมเรียกร้องหรือต้องเผชิญอยู่  และการประกอบธุรกิจอย่างมีคุณธรรม เป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจต้องสละ หรือ ต้องเสียโอกาสทางธุรกิจ อันเป็นผลจากการมีต้นทุนดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น มีความล่าช้าในการดำเนินการ หรือ ยุ่งยากมากขึ้น มีความซับซ้อนที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับหลายฝ่ายมากขึ้น และ มีโอกาสเก็บเกี่ยวผลกำไรที่ลดลงผลกำไรที่ลดลง

อย่างไรก็ดีในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา กระแสความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม กระแสความใส่ใจต่อความเป็นอยู่ของคนในสังคมแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต่างเป็นกระแสที่มีพลังสะสมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีอาการแผ่วลงไปบ้างในช่วงการระบาดของโควิด-19 ก็ตาม ผู้บริโภคและภาคประชาสังคมต่างให้ความสำคัญกับประเด็นทั้งสองมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นจำนวนมากสามารถพัฒนาธุรกิจให้เติบโตมาได้อย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมาจากโมเดลธุรกิจที่เริ่มต้นจากการสร้างคุณค่าให้กับสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด สินค้าอุปโภคบริโภคและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือกระทั่งธุรกิจแพลตฟอร์มที่ใช้โมเดลธุรกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) ที่ช่วยกระจายโอกาสทางธุรกิจให้คนทั่วไปและผู้ประกอบการรายเล็กได้มากขึ้น เป็นต้น ส่วนกิจการขนาดใหญ่ก็ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลมาจากแรงกดดันจากหลายด้าน เช่น ผู้ถือหุ้นหรือกองทุนที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและเสถียรภาพทางธุรกิจมากขึ้น สถาบันที่จัดอันดับหรือให้การรับรองคุณภาพการบริหารงานที่เพิ่มความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมากขึ้น กฎระเบียบของภาครัฐ กระแสเรียกร้องจากผู้บริโภค และการติดตามและเผยแพร่ของภาคประชาสังคม เป็นต้น

ESG เป็นคำย่อมาจาก 3 มิติความรับผิดชอบต่อการสร้างคุณค่าต่อสังคมขององค์กร คือ E-Environmental หรือประเด็นทางสังคมทั้งในแง่ของความก้าวหน้าในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลงอย่างเนื่องหรือการฟื้นฟูและสร้างสภาพสิ่งแวดล้อมของโลกให้ดีขึ้นกว่าเดิม S-Social หรือประเด็นทางสังคมทั้งในมุมมองว่าธุรกิจช่วยทำให้สังคมรอบข้างทั้งผู้บริโภค คู่ค้า ชุมชน และสังคมในภาพรวมดีขึ้นหรือมีปัญหาลดลงอย่างไร G-Governance หรือประเด็นด้านธรรมาภิบาลในการประกอบธุรกิจทั้งการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อยู่ในระบบนิเวศของธุรกิจและการมีระบบการบริหารงานภายในที่มีความโปร่งใส เป็นธรรม และมีคุณธรรม

อย่างไรก็ตามมุมมองที่ผู้คนและธุรกิจส่วนใหญ่มีต่อ ESG ยังคงเป็นมุมมองในเชิงรับ กล่าวคือยังเน้นการดำเนินการหรือถือปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือองค์ประกอบตามหลัก ESG ซึ่งการดำเนินการในรูปแบบดังกล่าวจึงเรื่องปกติที่ ESG จะถูกมองว่าเป็นภาระที่เพิ่มขึ้น เป็นกฎหรือกลไกเชิงสถาบันที่บริษัทจะต้องปรับการดำเนินการให้เป็นตามนั้นในรูปแบบของเช็คลิสต์หรือดำเนินการตามเกณฑ์ของการให้ค่าคะแนนของสถาบันประเมินและจัดอันดับ ส่งผลให้ประเด็น ESG จึงมักไม่ถูกพิจารณาให้เป็นกระแสแนวโน้มที่เป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ในทางธุรกิจ

ศาสตราจารย์ George Serafeim จาก Harvard Business School ได้แนะนำว่าการเปลี่ยนมุมมองจากการมองความคาดหวังและความต้องการของสังคมในเรื่องดังกล่าวต่อการสร้างผลกำไรในระยะสั้น ไปสู่มุมมองของโอกาสในการสร้างผลกำไรที่ยั่งยืนในอนาคต จะทำให้ธุรกิจได้รับผลดีอย่างคาดไม่ถึงหลายประการทั้ง (1) การลดต้นทุนทางการเงินลงจากการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือกองทุนที่ให้ความสำคัญกับ ESG ได้มากขึ้นหรือการได้ส่วนลดดอกเบี้ยเงินกู้จากเกณฑ์ ESG ซึ่งต้นทุนทางการเงินที่ลดลงดังกล่าวย่อมเป็นผลบวกต่อการประเมินมูลค่ากิจการที่เพิ่มขึ้น (2) การมีภูมิคุ้มกันต่อกฎระเบียบต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มกดดันให้กิจการต้องเปิดเผยข้อมูล ESG เพิ่มมากขึ้น (3) การช่วยรักษาความไว้วางใจและพึงพอใจที่ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของกิจการมีต่อคณะกรรมการบริหารองค์กร (4) การเข้าถึงผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนที่ให้ความสำคัญกับผลประกอบการในระยะยาวมากกว่าการคาดหวังหรือมุ่งเก็งกำไรจากผลประกอบการระยะสั้นของกิจการ (5) การที่พนักงานในองค์กรรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมและภาคภูมิใจที่ได้ทำงานที่สร้างคุณค่าให้กับสังคม และ (6) การที่ลูกค้าขององค์กรมีความผูกพันและรู้สึกดีที่ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรที่มีความรับผิดชอบและสร้างประโยชน์ให้กับสังคม

นอกจากนี้การน้อมนำกระแสแนวคิด ESG มาใช้เป็นโจทย์ในการออกแบบโมเดลและกลยุทธ์ทางธุรกิจ ยังส่งผลให้ธุรกิจสามารถสร้างอิทธิพลต่อสภาพแวดล้อมการแข่งขันให้เป็นไปในรูปแบบที่เอื้อต่อการสร้างขีดความสามารถในการทำกำไรในระยะยาว ได้แก่ ความเสี่ยงทางธุรกิจ การคำนึงถึง ESG ช่วยลดโอกาสที่ธุรกิจจะสร้างผลกระทบภายนอกในทางลบกับสังคม (negative externalities) จึงมีความเสี่ยงจากการถูกฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องหรือชดเชยความเสียหายได้ ตลอดจนการเป็นข่าวในทางลบจากเรื่องดังกล่าวในสื่อสาธารณะ ผู้บริโภค มีความผูกพันและจงรักภักดีต่อธุรกิจมากขึ้นจากความศรัทธาต่อความรับผิดชอบต่อสังคมและความประทับใจจากการเอาใจใส่ในปัญหาและความต้องการของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง และการที่สินค้าและบริการของกิจการมีความแตกต่างจากทางเลือกอื่นอย่างเด่นชัดในด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ผู้บริโภคจึงให้ความสำคัญกับราคาหรือการเปรียบเทียบกับคู่แข่งอื่นๆน้อยลง พนักงาน กิจการจะมีแรงดึงดูดหรือเป็นที่สนใจของแรงงานที่มีสมรรถนะสูง มีจิตวิญญาณที่รับผิดชอบต่อสังคม และต้องการทุ่มเทเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกับโลกมากกว่ากิจการทั่วๆไป จึงทำให้กิจการสามารถเข้าถึงและรักษาแรงงานดังกล่าวไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ผู้ป้อนปัจจัยการผลิตที่ต้องการเข้าสู่ตลาดสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ มีความยั่งยืนทางธุรกิจ และลดความเสี่ยงทางธุรกิจต่างต้องการขายปัจจัยนำเข้าและบริการสนับสนุนต่างๆในกับกิจการที่มีความรับผิดชอบสูง หน่วยงานกำกับ ซึ่งมักจะออกกฎระเบียบหรือมาตรการเพื่อป้องกันหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมาแล้ว มักจะให้ความไว้วางใจและถอดบทเรียนแนวปฏิบัติจากหน่วยงานที่เป็นเลิศและผู้นำในการปฏิบัติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เอาใจใส่ต่อปัญหาและความต้องการของสังคม และมีคุณธรรมในการบริหารกิจการ

ในบทความต่อไปเราจะมาร่วมเรียนรู้ถึงเคล็ดลับของการนำกระแสแนวโน้มเรื่อง ESG มาใช้เป็นโจทย์ในการพัฒนาโมเดลและกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนกัน

………………..

บทความโดย: ผศ. ดร.รักษ์พงศ์ วงศาโรจน์

……………….

อ้างอิง:

George Serafeim. (2020). Social-Impact Efforts That Create Real Value. [Online]

Kristian Heugh & Marc Fox. (2017). ESG and the Sustainability of Competitive Advantage. [Online]

Witold Henisz, Tim Koller, & Robin Nuttall. (2019). Five ways that ESG creates value. [Online]