“…แม้ว่าฉันจะเป็นผู้หญิงคนแรก ที่ได้ตำแหน่งนี้ แต่ฉันจะไม่ใช่คนสุดท้าย เพราะว่าเหล่าหญิงสาวน้อยใหญ่ในเวลานี้ ได้เห็นเป็นประจักษ์แล้วว่า ประเทศแห่งนี้ยังมีความเป็นไปได้อยู่ สำหรับเหล่าเด็กน้อยทั้งหลาย ในประเทศไม่ว่าจะเพศอะไรก็ตาม ประเทศเราได้บอกพวกเธอเป็นนัยแล้วว่า ให้ฝันด้วยความทะเยอทะยาน…”
กล่าวโดยกมลา เทวี แฮร์ริส (Kamala Devi Harris) ผู้ได้รับเลือกจาก โจ ไบเดน (Joe Biden) ที่ชนะการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ให้เป็นรองประธานาธิบดีเคียงคู่กับเขา ในเวทีสุนทรพจน์ประกาศชัยชนะร่วมกับไบเดน
เธอสำเร็จการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยรัฐแคลิฟอร์เนีย และได้มาเป็นผู้ช่วยอัยการที่สำนักอัยการเขตอะลาเมดา ต่อมาทำงานที่สำนักอัยการเขตและสำนักอัยการเมืองซานฟรานซิสโก และได้เป็นอัยการเขตของซานฟรานซิสโกในปี ค.ศ. 2003 – 2011 แฮร์ริสชนะการเลือกตั้งอัยการสูงสุดรัฐแคลิฟอร์เนีย 2 ครั้งในปี ค.ศ. 2010 และปี ค.ศ. 2014 ได้รับเลือกให้ดำรงตำแน่งสมาชิกวุฒิสภาในปี ค.ศ. 2016
ล่าสุดในปี ค.ศ. 2020 นางแฮร์ริสในวัย 56 ปี เข้าสู่ตำแหน่งรองประธานาธิบดีในฐานะ สตรีคนแรก หญิงผิวดำคนแรก ลูกครึ่งเชื้อสายเอเชียและแอฟริกันคนแรก ซึ่งการขึ้นสู่ตำแหน่งครั้งนี้ได้จุดประกายความฝัน ความเชื่อ และความเป็นไปได้ให้แก่หญิงสาวน้อยใหญ่ทั่วโลก หลังจากความหวังที่จะได้เห็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกเลือนหายไปกับความจริงเมื่อ 4 ปีก่อนที่นางฮิลลารี คลินตันแพ้การเลือกตั้งให้กับประธานาธิบดีทรัมป์
แม้ว่าอเมริกาจะขึ้นชื่อเรื่องเสรีภาพและความเท่าเทียม หากแต่เหตุการณ์ Black live matter ที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า อเมริกาในปัจจุบันยังคงมีปัญหาความไม่เท่าเทียมการเหยียดสีผิวและชาติพันธ์อยู่ ซึ่งเหตุการณ์รองประธานาธิบดีหญิงคนแรกในครั้งนี้เปรียบได้ดั่งการฝ่าเพดานการเมืองรูปแบบเดิมๆ ที่ผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองเป็นเพียงผู้ชายเสมอมา เช่นเดียวกับนายดักลาส เอ็มฮอฟฟ์ ชายเชื้อสายยิว สามีของนางแฮร์ริส ที่จะได้ตำแหน่งสุภาพบุรุษหมายเลข 2 คนแรก
จากสุนทรพจน์ของเธอเป็นการวาดภาพอเมริกาให้เห็นอย่างชัดเจน ว่าการบริหารประเทศภายใต้การสนับสนุนของแฮร์ริส สามารถทำให้สังคมอเมริกาเท่าเทียมกันอย่างแน่นอน ซึ่งในการมองอนาคตจะมีขั้นตอนการกวาดสัญญาณ (Horizon Scanning) เพื่อคาดการณ์ถึงแนวโน้มล่วงหน้าในอนาคต โดยจะมีการวางแผนหรือกำหนดกลยุทธ์สำหรับอนาคตไว้เป็นระเบียบแบบแผน จากเหตุการณ์ดังกล่าวเปรียบได้ดั่งสัญญาณอ่อนๆ (Weak Signals) ของความสำคัญที่ผู้หญิงจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในด้านต่างๆ มากขึ้น แน่นอนว่าสัญญาณเหล่านี้อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่อาจเกิดขึ้นและมีผลกระทบในอนาคต
มีความเป็นไปได้ในนโยบายต่างๆที่อาจเกิดขึ้นจะให้สิทธิและเห็นความสำคัญของการจัดการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเหยียดเพศ เช่น สิทธิในการทำแท้ง การล่วงละเมิดทางเพศในสถานที่ทำงาน เงินเดือนที่เท่าเทียมกันทั้งเพศชายและหญิง ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และระบบประกันสุขภาพสำหรับผู้หญิง เนื่องจากประสบการณ์ของแฮร์ริสที่เคยมุ่งให้ความสำคัญกับสิทธิสตรีอย่างการเข้าถึงการดูแลอนามัยการเจริญพันธุ์สำหรับผู้หญิงที่ยากจนและการพลักดันให้มีการคุ้มครองผู้มีความหลากหลายทางเพศเช่นอาชญากรรมจากความเกลียดชังต่อคนข้ามเพศ
บทความที่เกี่ยวข้อง:
ไม่มีบทความที่เกี่ยวข้องสำหรับโพสต์นี้