Metaverse (เมตาเวิร์ส) คือหนึ่งในเทคโนโลยีมาแรงที่คาดว่าจะเข้ามาพลิกโฉมโลกในทศวรรษหน้า กระแสความตื่นตัวต่อ Metaverse ได้ขยายวงกว้างนับตั้งแต่ Facebook ประกาศเดินหน้าพัฒนา Metaverse แบบเต็มตัว รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวอย่างจริงจังของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก อาทิเช่น Microsoft (สหรัฐฯ) และ Tencent (จีน) Metaverse จึงย่อมส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตมนุษย์ในหลาย ๆ มิติ รวมถึงวงการศึกษาด้วย
บริษัทวิจัยด้านเทคโนโลยี Gartner คาดการณ์ว่า ภายในปี 2026 ประชากร 25% จะใช้เวลาในโลกเสมือน Metaverse อย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง เพื่อการทำงาน การช็อปปิ้ง การเข้าสังคม ความบันเทิง และการศึกษา
Metaverse คืออะไร
Metaverse คือ การสร้างสภาพแวดล้อมของโลกแห่งความจริงและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน จนกลายเป็น “ชุมชนโลกเสมือนจริง” ที่สามารถผสานวัตถุรอบตัวและสภาพแวดล้อมให้เชื่อมต่อกันเป็นหนึ่งเดียว โดยอาศัยเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) เข้ามาช่วยเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อให้กลายเป็นพื้นที่โลกเดียวกัน
สาระสำคัญ คือการแปลงอินเทอร์เน็ต 2 มิติ เป็น 3 มิติ และรวมประสาทสัมผัสทั้งห้า การได้ยิน การมองเห็น การสัมผัส กลิ่น และความรู้สึกเคลื่อนย้าย เข้าไว้ในสถานการณ์เฉพาะผ่านอุปกรณ์ปลายทาง โลกจะกลายเป็นการควบรวมของความเป็นจริงทางกายภาพ ชีวภาพ และดิจิทัลกับผู้คนนับพันล้านคน และอุปกรณ์อัจฉริยะพิเศษกว่า 50,000 ล้านเครื่องที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยี 6G และ IoT
Metaverse ไม่ใช่เรื่องใหม่ในแวดวงการศึกษา
ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ได้รับผลกระทบ ต้องปิดให้บริการ และเป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิด Digital Disruption ในแวดวงการศึกษา มีการปรับตัวสู่การเรียนแบบผสมผสาน (Hybrid Learning) มีการดำเนินการเรียนการสอนผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ มากขึ้น
และการเรียนรู้ผ่านแนวทาง Immersive Learning (การเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี VR, AR, และ MR สร้าง ‘ความรู้สึกดำดิ่ง’ ลงไปในโลกเสมือนนั้นจนคล้ายกับอยู่ในโลกความเป็นจริง) เป็นหนึ่งในทางออกที่สถานศึกษาหลายแห่งเลือกใช้สำหรับการเรียนทางไกล รูปแบบของ Immersive Learning ที่กำลังได้รับความนิยม ได้แก่ การใช้แพลตฟอร์มที่ผู้เรียนสามารถสร้างอวาตาร์ จำลองตัวตนเข้าไปดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ในโลกเสมือนได้ และบางแพลตฟอร์มมีการใช้ส่วนผสมของเกม (Gamification) เพื่อเพิ่มสีสัน และสร้างความเพลิดเพลินให้แก่ผู้เรียน
นัยยะของ Metaverse ต่อวงการศึกษา
นักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่า Metaverse ไม่ใช่แค่ปรากฏการณ์ฉาบฉวยหรือเทรนด์ที่มาแล้วก็ไป ในบทวิเคราะห์ด้านการศึกษาของ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) ในปี 2022 เองก็ยกให้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ของวงการศึกษา นอกจากนี้ การที่บริษัทยักษ์ใหญ่ไอทีหลายค่ายขยับตัว เป็นการส่งสัญญาณถึงการขยายอิทธิพลของ Metaverse ยกตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มดังอย่าง Facebook (Meta) ที่ผู้ใช้งานกว่า 1.9 พันล้านคน ใช้เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสาร ไปจนถึงการสร้างชุมชนการศึกษาอย่างเช่น Learning Pods (กลุ่มเรียนรู้) จึงมีแนวโน้มที่ในอนาคตอันใกล้ ปัจเจกจะมาพบปะสังสรรค์กันในชุมชนโลกเสมือน และสร้างประสบการณ์การเรียนรู้รูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งยักษ์ใหญ่อย่างเช่น Facebook หรือ Microsoft และผู้ประกอบการ EdTech หลาย ๆ ค่ายก็ได้ส่งสัญญาณที่จะพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ใน Metaverse ให้มีศักยภาพ และมีความหลากหลายยิ่งขึ้น
Metaverse ช่วยยกระดับศักยภาพการพัฒนาการศึกษา ด้วยการนำเทคโนโลยี Immersive มาเพิ่มชีวิตชีวา เสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ และกระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน อีกทั้งการที่อุปกรณ์ VR Headset มีราคาถูกลง ประกอบกับการพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตไปสู่ยุค 5G เอื้อให้ผู้เรียนหรือสถานศึกษาสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ Metaverse ยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ จึงมีข้อกังวลเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ เช่น ทิศทางอนาคตที่ยังไม่ชัดเจน ยังมีข้อถกเถียงกันว่า Metaverse จะใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบเมื่อไหร่ หรือการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และการกำกับดูแลทั้งในแง่ของความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว ไปจนถึงการแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจแบบเกินควร โดยสถาบันวิจัย Brookings ประเทศสหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณเตือนว่า ผู้นำทางการศึกษา เช่น นักการศึกษา นักวิจัย ผู้กำหนดนโยบาย นักออกแบบดิจิทัล ควรจะอ่านเกมให้ขาด และก้าวนำเทรนด์ Metaverse ในขณะที่มันยังอยู่ในช่วงพัฒนา
Metaverse และแนวโน้มการเรียนรู้
อ้างอิงจากข้อมูลโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Immersive Technology ทั้งที่เคยเกิดขึ้นแล้ว และกำลังพัฒนาอยู่ สามารถวิเคราะห์แนวโน้มการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปจาก Metaverse ได้ดังนี้
1. พาผู้เรียนสัมผัสโลกกว้าง
Metaverse จะช่วยสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่น่าตื่นตาตื่นใจ ด้วยการจำลองสภาพแวดล้อมของธรรมชาติ หรือสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศต่าง ๆ และฉากเหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบัน ไปจนถึงโลกอนาคต ซึ่งผู้เรียนสามารถใช้อุปกรณ์ VR Headset ดำดิ่งและสัมผัสกับโลกเสมือนได้แบบ 360 องศา ซึ่งจะช่วยให้การเรียนวิชาภูมิศาสตร์ หรือประวัติศาสตร์ กลายเป็นเรื่องสนุก ปัจจุบันมีผู้พัฒนาเช่น Kai XR ที่ให้บริการทัศนศึกษารอบโลกแบบ 360 องศาแก่กลุ่มเด็กเล็ก และ EDU Metaverse ที่สร้างโลกเสมือนการเรียนรู้ เช่น มหาสมุทร ดินแดนขั้วโลก และดาวอังคาร นอกจากนี้ ยังมีแอพเรียนภาษา FluentWorlds ที่พาผู้เรียนไปฝึกภาษากับผู้คนในโลกเสมือน โดยมีฉากหลังเป็นสถานที่ในเมืองต่าง ๆ เช่น ลาสเวกัส
2. ยกระดับห้องเรียนเสมือน
Metaverse จะมาช่วยกลบจุดอ่อนของ Virtual Classroom (ห้องเรียนเสมือน) แบบเดิม ๆ เช่น Zoom ที่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกเบื่อหน่ายหรือเมื่อยล้า ด้วยการอัพเกรดห้องเรียนเสมือนในสภาพแวดล้อม 3 มิติ และสร้างสีสันด้วยการเพิ่มองค์ประกอบของเกมเข้าไป ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โรงเรียนและพิพิธภัณฑ์หลายแห่งได้ใช้เกมยอดนิยม Minecraft เป็นสื่อกลางในการเรียนรู้และสร้างการปฏิสัมพันธ์กับเด็กนักเรียน หรือวิทยาลัยธุรกิจ Neoma ประเทศฝรั่งเศส เป็นเจ้าแรก ๆ ที่เปิดให้บริการมหาวิทยาลัยเสมือนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักศึกษานานาชาติ นอกจากนี้ ผู้พัฒนา K20 ได้สร้างแพลตฟอร์ม Eduverse ไว้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับนักการศึกษา มีการจัดงานประชุม Virtual Conference ที่สมาชิกสามารถใช้อวาตาร์เข้าร่วมได้ ไปจนภึงการเรียนเก็บใบประกาศฯ ในรูปแบบ NFT อีกหนึ่งโครงการนำร่องที่น่าสนใจได้แก่ Kenya-KAIST ที่ประเทศเกาหลีใต้เข้าไปพัฒนาระบบ Metaverse เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาในทวีปแอฟริกา
3. ตอบโจทย์การเรียน STEM
Metaverse เหมาะสำหรับการเรียนสายวิทย์ ที่ต้องอาศัยการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ แอพ Labster มีการจำลองสถานการณ์การเรียนรู้ในห้องแล็บอย่างปลอดภัยกว่า 250 ฉาก เหมาะสำหรับการเรียนวิชาเคมี ฟิสิกส์ ที่ต้องใช้การทดลอง และอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ได้แก่ โครงการ Dreamscape Learn พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตต (ASU) ร่วมกับพันธมิตรจากฮอลลีวูด ที่จะมอบประสบการณ์การเรียนรู้วิชาชีววิทยาที่น่าตื่นเต้นในโลกแห่งการผจญภัย โดยจะมีการปล่อยสื่อการเรียนรู้ชุดแรก ‘Alien Zoo’ ที่ได้ผู้กำกับระดับโลกอย่าง สตีเวน สปีลเบิร์ก มาร่วมสร้างสรรค์ผลงาน ในปี 2022
3. ช่วยเพิ่มพูนทักษะผ่านสถานการณ์จำลอง
Metaverse จะเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการเพิ่มพูนทักษะให้แก่คนทำงานในวิชาชีพต่าง ๆ เอื้อให้ผู้เรียนสามารถฝึกฝน ลองผิดลองถูกได้อย่างปลอดภัย ในฉากจำลองสถานการณ์จริงที่มีความเสี่ยงหรือความกดดันสูง อย่างเช่น การเรียนขับขี่ยานพาหนะ หรือการฝึกกู้ภัย
บริษัทผู้ผลิตยาชั้นนำ Novartis ใช้เทคโนโลยี VR สร้างห้องแล็บเสมือนเพื่อการฝึกใช้อุปกรณ์ หรือการคิดค้นสูตรยาอย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ยังมีการนำ Metaverse มาใช้ในการพัฒนาทักษะ Soft Skill ให้กับบุคลากร เช่น บริษัท Walmart ให้พนักงานเล่นเกม Spark City เพื่อฝึกทักษะการจัดการ โดยผู้เล่นจะต้องเข้าไปถามไถ่ให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าที่ปรากฏในรัศมี 10 ฟุต และทุกครั้งผู้เล่นจะได้เผชิญกับสถานการณ์ใหม่ ๆ ไม่ซ้ำกัน หรือเครือศูนย์โรคไต Davita ใช้คลินิกเสมือนเพื่อถ่ายทอดแนวคิดเรื่อง Empathy หรือการสร้างความเห็นอกเห็นใจผู้ป่วยให้แก่บุคลากรการแพทย์ และบริษัท Verizon ใช้ VR เพื่อฝึกพนักงานในร้านค้าปลีกให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์เสี่ยงอย่างเช่น การปล้นร้าน หรือการถูกจับเป็นตัวประกัน
5. เพิ่มโอกาสการเรียนรู้ให้แก่ผู้ที่มีความต้องการพิเศษ
Metaverse เสนอนวัตกรรมการเรียนรู้สำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษ ตัวอย่างเช่น ผู้พัฒนา Floreo ได้สร้างแพลตฟอร์ม VR เพื่อช่วยผู้ป่วยออทิสติกในการเรียนรู้ทักษะการสื่อสารและการเข้าสังคม แพลตฟอร์ม Roblox ได้พัฒนาเกม EndeavorRx ที่ช่วยบำบัดอาการสมาธิสั้น และมูลนิธิ Starlight กระจาย VR Headset ไปตามโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อช่วยบำบัดความเครียดให้แก่ผู้ป่วยเด็กที่มีอาการหนัก
6. เก็บข้อมูลเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียน
การเรียนรู้ผ่าน Metaverse จะเอื้อต่อการเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติผ่านผลคะแนน รวมถึงพฤติกรรม และการเคลื่อนไหวของผู้เรียน นำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เช่น ผลการเรียน ความตั้งใจ การมีส่วนร่วม และการทำนายผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ซึ่งผู้เรียนสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการปรับปรุงพัฒนาตนเอง และครูหรือสถานศึกษาสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการวิเคราะห์และพัฒนาบทเรียนหรือสภาพแวดล้อมห้องเรียนให้เหมาะสมได้
#FuturistNIDA #ให้คำปรึกษาด้านการมองอนาคต
#อนาคตการศึกษา #เทคโนโลยีการศึกษา #Metaverse
บทความโดย: อัลเบอท ปอทเจส
= = = = = = = = = =
อ้างอิง:
Gartner. (2022.) Gartner Predicts 25% of People Will Spend At Least One Hour Per Day in the Metaverse by 2026. [Online]
Michael B. Horn. (2022). Meet the Metaverse – A New Frontier in Virtual Learning. [Online].
OECD Education Today. (2022). Our changing nature: Education in a hybrid world. [Online].
Sheila Jagannathan. (2022). Education Meets the Metaverse: Reimagining the Future of Learning. [Online].
G-Able. (2565). Metaverse คืออะไร แบรนด์ควรให้ความสำคัญแค่ไหนต่อจากนี้?. [ออนไลน์]
ไทยรัฐออนไลน์. (2564). เปิดที่มา “Metaverse” คืออะไร สำคัญอย่างไรกับโลกอนาคต?. [ออนไลน์]
อัลเบอท ปอทเจส. (2564). Immersive Learning ดำดิ่งกับการเรียนรู้ในโลกเสมือน. [ออนไลน์]