แนวโน้มด้านเทคโนโลยี (Technological)

ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)

ข้อมูลขนาดใหญ่เป็นข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ โครงสร้างหลากหลาย และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเมื่อนำมาวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีการประมวลผลแล้ว จะช่วยให้สามารถสรุปข้อเท็จจริงและคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตได้อย่างแม่นยำ เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจในมิติต่าง ๆ และการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ (Gartner, n.d.) 

จีโนมิกส์ (Genomics)

การศึกษารหัสพันธุกรรมทั้งหมดหรือจีโนม (genome) ของสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะมนุษย์ รวมถึงการศึกษาปฏิกิริยาระหว่างยีน (gene interaction) ด้วยกันเอง และระหว่างยีนกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถใช้ศึกษาโรคที่มีความซับซ้อน (complex diseases) ที่เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เช่น โรคหัวใจ โรคหอบหืด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง 

ชีวมาตร (Biometrics)

หมายถึง ข้อมูลส่วนบุคคลที่เกิดจากการใช้เทคนิคหรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการนำลักษณะคนทางกายภาพหรือทางพฤติกรรมของบุคคล มาใช้ทำให้สามารถยืนยันตัวตนของบุคคลนั้นที่ไม่เหมือนกับบุคคลอื่นได้ เช่น ข้อมูลภาพจำลองใบหน้า ข้อมูลจำลองม่านตา หรือข้อมูลจำลองลายนิ้วมือ (Monsak Socharoentum, 2020) 

ดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit Satellite, LEO Satellite)

ดาวเทียมวงโคจรต่ำเป็นดาวเทียมที่โดยทั่วไปจะโคจรและปฏิบัติการอยู่ ณ ระดับความสูงประมาณ 160-1,000 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวโลก (European Space Agency, 2020) สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น ดาวเทียมสังเกตการณ์โลก ดาวเทียมสื่อสาร และดาวเทียมระบุตำแหน่งและนำทาง 

เทคโนโลยีการคมนาคมความเร็วสูง

ในอดีต การเดินทางด้วยระบบรางได้กระตุ้น และทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในพื้นที่บางส่วนของโลก ระบบรางยังได้ทำให้เกิดการกระจายตัวทางเศรษฐกิจ ช่วยสนับสนุนนโยบาย และเป็นตัวเร่งให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ แต่โลกได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีคำพยากรณ์ถึงอนาคตในปี 2050 ว่า ประชากรโลกจะมีจำนวนสูงขึ้นเป็น 9.5 พันล้านคน และกว่า 75% จะอาศัยอยู่ในเมือง ซึ่งจะส่งผลให้การเดินทางจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า จึงต้องมีเทคโนโลยีการเดินทางใหม่ ๆ ยกตัวอย่างเช่น ระบบรางรถไฟฟ้าพลังงานแม่เหล็ก จนไปถึงไฮเปอร์ลูป เพื่อช่วยตอบสนองความต้องการให้มากขึ้น (The Bangkok Inside, 2562) 

เทคโนโลยีการคำนวณและการประมวลผลเชิงควอนตัม

เทคโนโลยีการคำนวณและการประมวลผลเชิงควอนตัมหมายถึงเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ใช้คุณสมบัติเชิงควอนตัมของอนุภาคและแสงมาเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผล กล่าวคือ หน่วยประมวลผลหนึ่งหน่วย (คิวบิต (qubit)) จะสามารถประมวลผลข้อมูลที่มีค่าหลากหลายรูปแบบ เป็นจำนวนมหาศาลคู่ขนานไปพร้อมกัน ณ จุดเวลาหนึ่ง ๆ ต่างจากคอมพิวเตอร์ระบบบิต (bit) ในปัจจุบัน ซึ่งหน่วยประมวลผลแต่ละหน่วยจะประมวลผลเฉพาะได้เฉพาะข้อมูลแบบฐานสอง คราวละหนึ่งบิตเท่านั้น (Chaichumkhun, 2019) 

เทคโนโลยีความจริงผสมผสาน (Mixed Reality, MR)

เทคโนโลยีความจริงผสมผสานเป็นเทคโนโลยีที่ผนวกโลกความเป็นจริงกับองค์ประกอบดิจิทัลเข้าด้วยกัน และเอื้อให้ทั้งสองส่วนกับผู้ใช้งานสามารถมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ โดยอาศัยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์วิทัศน์ (computer vision) การประมวลผลกราฟฟิก การแสดงผล ระบบการนำเข้าข้อมูล และการประมวลผลแบบคลาวด์ (Microsoft, 2021) เทคโนโลยีความจริงผสมผสานนี้เกิดจากการบูรณาการและการต่อยอดขีดความสามารถของเทคโนโลยีความจริงเสมือน (Virtual Reality, VR) และเทคโนโลยีความจริงเสริม (Augmented Reality, AR) ที่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในปัจจุบันเข้าด้วยกัน (Bayern, 2019) 

เทคโนโลยีอวกาศ

เทคโนโลยีอวกาศหมายถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของมนุษย์นอกชั้นบรรยากาศของโลกหรือตั้งแต่ระดับความสูง 100 กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเลปกติออกไป โดยประกอบด้วยเทคโนโลยีย่อยหลากหลายประเภท ตัวอย่างเช่น ดาวเทียม การเดินทางระหว่างจุดหมายภายในโลกผ่านอวกาศ การเดินทางระหว่างดวงดาว การใช้ชีวิตในอวกาศ การสำรวจอวกาศ การท่องเที่ยวอวกาศ และการศึกษาวิจัยในอวกาศ เป็นต้น 

บล็อกเชน (Blockchain)

บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีการจัดเก็บและการประมวลผลข้อมูลบนเครือข่ายแบบกระจายศูนย์หรือหน่วยต่อหน่วย ที่ปราศจากตัวกลางหรือแม่ข่ายซึ่งผูกขาดการจัดเก็บและการเปลี่ยนแปลงข้อมูลต้นฉบับ ข้อมูลทั้งหมดจะถูกสำเนาและจัดเก็บโดยทุกหน่วยในเครือข่ายอย่างถาวร ขณะที่การดำเนินการเปลี่ยนแปลงใด ๆ จะได้รับการตรวจสอบเทียบเคียงกับสำเนาข้างต้น และอนุมัติโดยทุกหน่วยในเครือข่ายแทน (Biscontini, 2020) ด้วยคุณลักษณะดังกล่าว การนำบล็อกเชนมาใช้งานจึงช่วยลดต้นทุนของการมีตัวกลางตลอดจนเสริมสร้างความรวดเร็ว ความโปร่งใสและความปลอดภัยจากการเปลี่ยนแปลงข้อมูลโดยมิชอบในการจัดการข้อมูล 

ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, A.I.)

ระบบสมองกลอัจฉริยะ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในอนาคตเพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพอาจกล่าวได้ว่า เป็นเครื่องจักรที่มีฟังก์ชันที่มีความสามารถในการทำความเข้าใจเรียนรู้องค์ความรู้ต่าง ๆ อาทิเช่น การเรียนรู้ การรับรู้ การให้เหตุผล และการแก้ปัญหาต่าง ๆ และในปัจจุบันมีความสามารถเฉพาะทางมากกว่ามนุษย์ (ศิโรตม์ ภาคสุวรรณ, 2564, หน้า. 137-145) 

ประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience)

ประสาทวิทยาศาสตร์เป็นการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างและหน้าที่ของระบบประสาทและสมอง รวมถึงผลกระทบต่อพฤติกรรมและการรับรู้ (Nordqvist, n.d.) 

ระบบการสื่อสารยุคที่ 6 หรือเครือข่ายหกจี (6G)

เครือข่ายหกจีหมายถึงระบบการสื่อสารไร้สายที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาต่อยอดจากเครือข่ายห้าจี (5G) เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดของเครือข่ายห้าจีในปัจจุบัน โดยข้อจำกัดที่สำคัญ ได้แก่
▪ ปริมาณ ความเร็ว และความหน่วงในการรับส่งข้อมูล (latency) ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการในการใช้งานอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่งและปัญญาประดิษฐ์ที่จะซับซ้อนและเพิ่มจำนวนมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ (Emerging Technology from the arXiv, 2019; Nelson, 2018)
▪ ความจำเป็นในการใช้จุดรับส่งสัญญาณภาคพื้นจำนวนมาก เนื่องจากคลื่นสัญญาณอ่อนและสามารถส่งสัญญาณได้ในระยะทางที่จำกัด (Supamangmee, 2019)

ยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไร้คนขับ

ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ซึ่งจะประหยัดพลังงานและปล่อยมลพิษน้อยกว่าเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ส่วนยานยนต์ไร้คนขับเป็นยานพาหนะที่ขับเคลื่อนได้เองโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือของมนุษย์ ยานยนต์ประเภทนี้ใช้ปัญญา-ประดิษฐ์และเซนเซอร์ทำความเข้าใจสภาพแวดล้อม แล้วควบคุมการขับเคลื่อนแบบอัตโนมัติ (Kottayil, 2021) 

อาวุธทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction)

ตามมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติใน ค.ศ.1977 อาวุธทำลายล้างสูงหมายถึงอาวุธระเบิดปรมาณู อาวุธกัมมันตภาพรังสี อาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ และอาวุธอื่นที่มีอานุภาพทำลายล้างชีวิตมนุษย์ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เทียบเคียงได้กับอาวุธที่กล่าวมาข้างต้น (Prohibition of the development and manufacture of new types of weapons of mass destruction and new systems of such weapons, 1977) นอกจากนี้ ยังหมายรวมถึงขีปนาวุธ ซึ่งอาจถูกใช้ในการลำเลียงอาวุธทำลายล้างสูงเหล่านั้นด้วย 

อาหารแห่งอนาคต (Future Food)

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ อาหารอนาคต ถูกพูดถึงกันมากเพราะเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก เป็นไปตามวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในโลกนี้ที่เปลี่ยนแปลงไปแบบคาดไม่ถึง ทั้งนี้ผู้บริโภคยุคใหม่จะให้ความสำคัญกับอาหารที่รับประทานได้สะดวก รวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับสุขภาพ และความปลอดภัย ไปพร้อม ๆ กัน (ธนาคารกรุงเทพ, 2563) 

อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things, IoT)

อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง หมายถึง การที่สิ่งต่าง ๆ ถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันในโลกของอินเทอร์เน็ต ทำให้มนุษย์สามารถสั่งการและควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ ผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ เช่น การสั่งเปิด-ปิด อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องมือทางการเกษตร เครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม บ้านเรือน รวมไปถึงเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต